ขอบฟ้าของแก้วตา
- Chamnongsri Hanchanlash
- 22 มิ.ย. 2566
- ยาว 11 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ค. 2567
บทละคร โดยคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

ภาพประกอบโดย กัญจนา ดำโสภี
ตัวละคร
พิภพ -เจ้าหน้าที่ธนาคารระดับบริหาร วัย 46
ทิพยา -อาจารย์มหาวิทยาลัย ภรรยาพิภพ วัย 42
กลอยใจ -เด็กสาววัยเรียนมหาวิทยาลัย คล่องแคล่ว วัย 21
แก้วตา -เด็กหญิงวัยรุ่น พิการทางปัญญา วัย 18
ปิ่น -แม่บ้านครอบครัวพิภพ
นิด -อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อนรุ่นพี่ทิพยา
ชลิต(โต้ง) -ชายหนุ่มปัญญาอ่อน ช่วยตัวเองเกือบไม่ได้
กฤช -ครูพิเศษโรงเรียนสอนคนพิการทางปัญญา ท่าทางใจดี
ศิรา -เด็กหนุ่ม
สาวิตรี -เด็กหญิงวัยรุ่น
ครูชาย
เด็กปัญญาอ่อนหญิง 2-3 คน
เด็กปัญญาอ่อนชาย 2-3 คน
แพทย์คนที่ 1
แพทย์คนที่ 2
พยาบาลคนที่ 1
พยาบาลคนที่ 2
ฉากที่ 1
ห้องพักคอยแพทย์ ในคลินิกจิตเวชเด็ก
นิดจูงชลิตเข้ามา พยาบาลเข้ามาจากด้านตรงข้าม นิดวัยสี่สิบเศษ แต่งตัวดี ท่าทางเป็นคนใจไม่สงบ พูดจาเร็วปร๋อ ชลิตวัย 15-16 ตัวสูง ปัญญาอ่อนระดับรุนแรง แม่ต้องรั้งให้เดินตาม
พยาบาล: คอยนิดนะคะอาจารย์(ช่วยจัดชลิตนั่งบนเก้าอี้) โต้งเป็นไงบ้าง ไม่เห็นเสียนาน โตเป็นหนุ่มเชียว
นิด: คุณหมอจะอีกนานไหม หนู
พยาบาล: เสร็จรายนี้แล้ว ต้องเขียนรายงานด่วนฉบับหนึ่ง แล้วขึ้นไปดูคนไข้ข้างบนนิดหนึ่ง (ทำท่าประจบโต้ง) คอยไหวมั้ยโต้ง
นิด: โต้งน่ะไหว ฉันจะไหวมั้ยไม่รู้
ทิพยาเดินออกมาจากห้องตรวจ เห็นได้ชัดว่าเพิ่งหยุดร้องไห้มาไม่นาน
พยาบาล: เสร็จแล้วหรือคะ
นิด: อ้าว ทิพยา มาทำอะไรที่นี่
ทิพยา: (แปลกใจ) อาจารย์นิด เอ้อ...(มองจากแม่ไปที่ลูกแล้วกลับไปที่แม่)
นิด: (วางตัวไม่ถูก เขิน) ลูกฉันเอง โต้ง น้องยายป้อม (หันไปอธิบายกับพยาบาล) สอนคณะเดียวกัน ไม่นึกว่าจะมาเจอที่นี่
พยาบาล: หนูไปดูคุณหมอหน่อยนะคะ (เดินออกไป)
ทิพยา: ไม่เคยทราบ...เอ้อ นึกว่าอาจารย์มีแค่ป้อม กับเปี๊ยก
นิด: (พูดพลางเปิดกระเป๋า เอาถุงพลาสติกถุงเล็กออกมาเปิด หยิบผ้าเช็ดน้ำลายโต้ง ท่าทางรำคาญเขิน แต่แฝงความอ่อนโยน) ไม่อยากให้ใครรู้ รู้ก็พูดกันไป พาออกไปไหน ก็มองกันยังกับไม่ใช่คน
ทิพยาอึ้งมองพูดไม่ออก นิดเหลือบตามอง แล้ววุ่นวายกับโต้งต่อ
นิด: แม่ฉันก็ว่าชื่อเล่นเค้าไม่ขึ้นด้วย ป อย่างพี่ๆ ถึงได้เป็นอย่างนี้ ไม่รู้ว่ามันจะเกี่ยวตรงไหน (เก็บผ้าเช็ดหน้า ปิดกระเป๋า) ทิพยาล่ะลูกเป็นอย่างนี้รึ
ทิพยา: (น้ำตาไหลพราก) ค่ะคนเล็ก แกชักสมองขาดออกซิเจน
นิด: (นึกออก) เอ๊ะ เมื่อปีก่อนใช่มั้ย ที่โทร.มาบอกให้ฉันดำเนินการอภิปรายแทน นี่กี่ขวบแล้วล่ะ
ทิพยา: จะสี่แล้วค่ะ (เริ่มร้องไห้อีก) แกเฉย ไม่พูด ไม่เล่น ไม่ยิ้ม...มีแต่ร้องไห้ นานๆ ที แล้วก็โยกตัว บางทีแกโยกตัวเป็นชั่วโมงๆ (สะอื้นฮัก ๆ)
นิด: (พูดสวน) แต่ก็เป็นคน ฉันก็เคยร้องไห้อย่างเธอนี่แหละ ร้องจนเดี๋ยวนี้ร้องไห้ไม่เป็นแล้ว โต้งอย่า (ดึงมือโต้งที่โต้งยัดเข้าไปเคี้ยวออกจากปาก เปิดกระเป๋าหยิบถุงพลาสติกถุงเล็ก ดึงผ้าเช็ดหน้าออกมา เช็ดมือเช็ดปากและคางให้) ชื่ออะไรลูกเธอน่ะ
ทิพยา: แก้วตา ค่ะ
นิด: ยายคนโตชื่อ กลอยใจ ใช่ไหม อายุเท่าไหร่
ทิพยา: เจ็ดขวบค่ะ
นิด: กลอยใจ แก้วตา น่าเอ็นดู ขึ้นด้วย ก. เหมือนพี่ ก็ยังเป็นนี่ ฉันจะได้บอกแม่ให้เลิกบ่นซะที
ทิพยาอดหัวเราะไม่ได้ หัวเราะทั้งน้ำตา นิดมองแล้วยิ้ม
ทิพยา: อาจารย์พาแกมาหาหมอบ่อยหรือคะ
โต้งเริ่มโยกตัวช้าๆ ค่อยๆ งอเข่าขึ้นกอด โยกตัวคล้ายม้าโยก แต่ช้ามาก
นิด: ไม่หรอก พักนี้เขา...เขาไม่...ไม่ค่อยปกติ โต้งอย่าโยก (พูดพลางจับตัวโต้งให้หยุดโยก ปลดมือออกจากเข่าจับให้นั่งตรงๆ)
ทิพยา: เอ้อ...แล้วอาจารย์ฝึกแกบ้างหรือเปล่าคะ ต้องฝึกตั้งแต่เล็กใช่ไหมคะ
นิด: ฝึก ก็ส่งไปโรงเรียนน่ะ...เราเองจะเอาเวลาที่ไหน ลูกอีกตั้งสองล่ะ
ทิพยา: ไปโรงเรียนจนเดี๋ยวนี้หรือคะ
นิด: โอ้ย ไปอยู่ปีกว่าๆ มั้ง รับส่งไม่ไหว สมัยนั้นโรงเรียนเค้าไม่มีรถรับรถส่ง
โต้งขยับตัว หยุดโยกตัว
นิด: โต้ง เปียกหมดแล้ว กางกุ้งกางเกง (เปิดกระเป๋า หยิบถุงพลาสติก ถุงใหญ่กว่าถุงแรก เปิดถุงพลาสติก ควักผ้าผืนใหญ่กว่าผืนแรกออกมา จับโต้งยืนขึ้นเพื่อซับเก้าอี้)
โต้งเริ่มวิ่งไปมา ส่งเสียงร้อง พยาบาลวิ่งออกมาช่วยนิดจับตัวไว้
นิด: เป็นอะไรลูก เจ็บที่ไหน บอกแม่ซิไหนเจ็บไหม
โต้งชี้ที่ท้อง ทำเสียงดังไม่เป็นภาษา
พยาบาล: อ๋อ ปวดท้องหรือโต้ง
นิด: ใช่พักนี้เป็นบ่อย สองสามวันแล้ว
พยาบาล: (จูงโต้งเดินออกไปทางห้องหมอ โต้งหันดูนิดเหมือนไม่อยากไป) มาโต้งมาให้หมอดูหน่อยนะจ๊ะ
นิด: (เช็ดเก้าอี้และพื้นที่โต้งทำเปียก แล้วเก็บเข้าถุงพลาสติก ใส่กระเป๋าถือขณะที่พูดไปเรื่อยๆ พูดจบก็ทำเสร็จพอดี) เมื่อเล็กๆ ร้องกรี๊ดๆ เป็นชั่วโมง คลั่งกันทั้งบ้าน เดี๋ยวนี้ยังพอชี้ให้รู้ว่าเจ็บที่ไหน ไอ้เรื่องทำเปียกอย่างนี้ก็ไม่บ่อยหรอก วันนี้คงเอ็กไซท์
ทิพยารู้สึกเหมือนกำลังเห็นภาพที่น่าหวาดกลัว ตัวแข็ง เกร็ง พูดไม่ออก ยกมือปิดปากสะอื้นฮัก
นิดเหลือบมอง ตัดสินใจพูด พูดช้าและเรียบกว่าปกตินิสัย เหมือนพยายามค้นหาคำพูด
ทิพยามองนิดเหมือนคนที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะพูดนิดไม่มองทิพยา
นิด: เมื่อเค้าเล็กๆ ฉันเคยอุ้มเค้าขึ้นไป จะโดดจากหน้าต่างตึกชั้นห้าตายพร้อมเค้า จะได้หมดเรื่องกันไป แต่ก็ดีแล้วที่ไม่ได้โดด ปีต่อมาพ่อเค้าก็ตาย ป้อมกับเปี๊ยกยังไม่ขึ้นมัธยมเลยตอนนั้น
ทิพยา: หนูไม่เคยทราบเลย
นิด: เธอก็เห็นฉันเหมือนคนอื่นๆ เห็นนั่นล่ะ มาคณะก็สักแต่ว่าสอน งานวิชาการไม่สน เซ็นชื่อแล้วก็แว้บ พูดจาไม่เข้าหูมนุษย์ (หัวเราะ พูดเร็ว กริยาท่าทางกลับเป็นเหมือนแต่แรก) ก็อย่างงั้นจริงๆ ลำพังเงินเดือน ฉันจะเลี้ยงลูกสามกับแม่อีกคนยังไงไหว ต้องไปรับจ้างเขาทำ...ช่างมันเถอะ (เดินเข้ามามองหน้าทิพยา) เธอเป็นคนเก่ง(พยักหน้ากับพยาบาลซึ่งเดินเข้ามา เดินไปคว้ากระเป๋า มาหยุดพูดกับทิพยาก่อนที่จะออกไป) เธอต้องเข้มแข็ง ช่วยลูกเธอให้ดีกว่าที่ฉันทำ
นิดออกไป ทิพยาจ้องมองราวกับนิดยังยืนอยู่ตรงนั้น
ฉากที่ 2
บ้านพิภพ
พิภพชงกาแฟยกขึ้นดื่ม แก้วตาวัย 6 ขวบนั่งบนตักทิพยาซึ่งถือหนังสือภาพเล่มใหญ่กางให้แก้วตาดู รอบตัวและบนพื้นมีของเล่น ตุ๊กตา หนังสือ
ทิพยา: (ชี้รูปในหนังสือ) หมา หมาตัวโต เห่ายังไง เห่า โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง (พลิกหน้า) แมว แมวเหมียว ร้อง เมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว (พลิกกลับ) นี่อะไร อะไรคะ หมา หมาเห่า โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง (พลิกหน้า) นี่อะไร อะไรเอ่ย แมว ไง แมว...
พิภพ: (มองทิพยา รินน้ำใส่แก้ว) พอทีดีมั้ย ไม่รู้จักเหนื่อยกันบ้างหรือ (ยื่นแก้วน้ำให้) เอาจ้ะ คุณแม่คนเก่ง ดื่มน้ำเย็นๆ แก้คอแห้ง ไอ้หมาแมวในเล่มนั้นคอแห้งตายกันหมดแล้ว (หยิบหนังสือประเภทตำราขึ้นดู) นี่เล่มใหม่นี่ "Training Your Special Child"
ทิพยา: ขอบคุณค่ะ (ดื่มน้ำแล้วส่งถ้วยแก้วคืน พลิกหน้าหนังสือ ชี้ภาพ) นี่ นี่แก้วตา นี่ อะไรคะ นก นกบิน สูง สูง มันร้อง...
พิภพ: (ขัดให้หยุด) พอ พอที วันนี้เราสัญญากลอยใจ จะพาไปดูหนังไง รอบห้าโมง มีเวลาอีกหน่อย
พิภพยื่นหน้าเข้าชิดใบหน้าทิพยา
ทิพยา: (เบี่ยงหนี) อย่านะ ไม่อายแก้วตาบ้างหรือไง
พิภพ: ไม่อาย แก้วตาจะรู้อะไร
ทิพยา: แหม คุณก็...
พิภพ: (ถอนใจ) ทิพยารู้ไหม ตั้งแต่แก้วตาเป็นอย่างนี้ เราสองคนไม่ได้ไปไหนด้วยกันมานานเท่าไรแล้ว หาเรื่องไปไหนกันสักสองสามวันดีไหม เผื่อจะได้ลูกอีกสักคน
ทิพยา: โธ่ พิภพ แค่นี้ก็...
พิภพ: แค่นี้ก็จะแย่แล้ว เรามันคนกินเงินเดือนกันทั้งคู่
ทิพยา: นั่นนะซี ไม่เลือกแต่งกับลูกสาวเจ้าสัว
พิภพ: มาแต่งกับอาจารย์คนเก่ง (ทำเจ้าชู้) และสวย
ทิพยา: (หัวเราะ แล้วหันไปชี้รูปให้แก้วตาดู) ดูนี่ตัวอะไรเอ่ย
พิภพ: ไม่ ไม่ แก้วตาเหนื่อยแล้วใช่มะ ใช่มะ
พิภพจิ้มพุงแก้วตา แก้วตานิ่งมองอย่างอื่น พิภพกับทิพยามองหน้ากันนิ่งงัน พิภพเอื้อมมือจิ้มพุงแก้วตาอีกครั้ง แก้วตานิ่งเฉย ทิพยาถอนใจ พิภพขยับจะลุกแต่เปลี่ยนใจ
พิภพ: แก้วตาเหนื่อยแล้วใช่มั้ย ใช่มะ (หัวเราะจิ้มพุงแก้วตา) ใช่ไหม
แก้วตาหัวเราะ ยื่นมือมาจิ้มอกพ่อสองครั้ง พิภพกับทิพยามองหน้ากันดีใจจนพูดไม่ออก เสียงโทรศัพท์ดัง พิภพเดินออกไปรับ ทิพยานั่งอยู่กับแก้วตาดูรูปต่อ
เสียงพิภพ: (ดังเข้ามาให้ได้ยิน) ครับ ผมพิภพพูด ทิพยาก็อยู่ครับ (เสียงบ่งความตกใจ) ระเบียงชั้นบน
ทิพยา: นก นกบิน สูง สูง ร้องจิ๊บๆ
เสียงพิภพ: (เสียงตกใจยิ่งขึ้น ทิพยาเงี่ยฟัง)...ป้อมก็ไม่อยู่หรือครับ...อ๋อ คนใช้ ให้เค้าดูโต้งไว้นะครับ ผมจะไปเดี๋ยวนี้
พิภพ: (รีบเดินเข้ามา) อาจารย์นิดโทรมา ผมจะรีบเอาโต้งไปส่งโรงพยาบาล แกตกลงมาจากบ้าน
ทิพยา: (งง) แล้วตัวอาจารย์ล่ะ
พิภพ: โทรมาจากโรงพยาบาล
ทิพยา: อ้าว ทำไม
พิภพ: มะเร็งกระเพาะ
ทิพยา: (ตกใจ) โธ่ ที่คณะไม่รู้กันเลย เห็นว่าลาพัก ปิ่น...ปิ่น
ขณะที่พิภพกับทิพยากำลังโต้ตอบกัน แก้วตาจ้องมองภาพในหนังสือเอานิ้วจิ้มที่ภาพเริ่มพูดคนเดียว ไม่มีใครสังเกต พอทิพยาจะปิดหนังสือ แก้วตาเงยหน้ามองพ่อ หัวเราะแล้วพูดดังๆ แต่ออกเสียงไม่ชัด
แก้วตา: (นิ้วจิ้มรูปในหนังสือ) นก นก จิ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ
ปิ่นเข้ามา ยืนงง
ปิ่น: แก้วตา! ว่าอะไรนะ
พิภพ: แก้วตา...อะไรนะ บอกพ่อซี
แก้วตา: นก นก นกจิ๊บ ๆ นกจิ๊บ ๆ
ทิพยาลุกขึ้นยืนอุ้มแก้วตา เอียงแก้มแนบหัวแก้วตา ไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ พิภพจูบแก้มแก้วตา
พิภพ: คนเก่งของพ่อ คนเก่ง...(หันรีหันขวาง) ผมรีบไปละ
พิภพออกไป
ทิพยา: แก้วตา...โต้ง... (ส่งแก้วตาให้ปิ่น แล้วรีบตามพิภพออกไป) พิภพ ฉันจะไปด้วย
แก้วตา: นกบิน จิ๊บๆ จิ๊บๆ นกบิน บิน
ฉากที่ 3

ในความนึกคิด
เวทีมืด วันเวลาผ่านไปหลายปี แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตรงนี้ ไม่ขึ้นกับสถานที่หรือเวลาที่เป็นรูปธรรม
เวทีมืดสนิท ยกเว้นไฟที่ส่องเป็นกรอบกร้าวเหมือนกรงเหล็กตรงทิพยา เห็นทิพยาครึ่งตัว กรอบไฟให้ความรู้สึกอึดอัด
ทิพยา: (พูดกับพิภพ สลับกับคนดู) พิภพคะ ฉันเลือกที่จะอยู่ในนี้ ฉันไม่ต้องการบิน...ในกรงนี้ มีงานที่ฉันจะสานไม่มีวันเสร็จ คุณไม่ชื่นใจรึคะที่เราทำได้ถึงขั้นนี้ เราต่อสู้ด้วยกันมา 15 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่วันนั้น วันที่เราไปนั่งเฝ้าด้วยกันที่หน้าห้องฉุกเฉิน พิภพคะ ฉันจะอยู่ในกรงนี้จนวันตาย (นิ่งนึกย้อนหลังพูดกับตัวเอง) จนวันตาย...ตาย ฉันไม่ได้นึกถึงคำนี้มานาน ตาย...นิ่ง...จบสิ้น...ไม่รับรู้....หยุดสู้ (นิ่งคิด เหมือนมองภาพความตาย เป็นภาพที่ตนไม่เคยได้มองมาก่อน) แปลกนะ ฉันไม่ได้คิดถึงความตาย ตั้งแต่วันที่อาจารย์นิดตาย โต้งเข้าเฝือกขาหักทั้งสองข้าง นั่งโยกตัวมองเมรุเผาศพแม่ จะรู้เรื่องแค่ไหนไม่มีใครรู้...โต้ง....ตอนนั้นแกอายุ 19 แล้วซิ เท่าแก้วตาตอนนี้พอดี...วันนั้นเป็นวันที่ฉันรู้ว่าฉันตายไม่ได้ คนหมดสิทธิ์ตายอย่างฉัน ไม่สนใจ
หรอกท้องฟ้าเหนือกิ่งไทรของคุณน่ะ แต่บางวันฉันก็เกือบลืมกลอยใจ
ไฟดับ เวทีมืดสนิท
ฉากที่ 4
เวลากลางคืน ในบ้านพิภพ ห้องเดิม มีเปียโนตั้งอยู่
กลอยใจอายุ 21 แต่งตัวค่อนข้างเปรี้ยวสะพายกระเป๋าแสดงว่าเพิ่งกลับเข้าบ้าน ทิพยาใส่เสื้ออยู่กับบ้านเหมือนกับจะเข้านอน ยืนประจันหน้ากัน กลอยใจกร้าว ทิพยาเป็นห่วง
กลอยใจ: ใช่ซิคะ กลอยช่วยตัวเองได้
ทิพยา: แต่นี่ตีสองแล้วนะจ๊ะ ลูกไม่ได้บอกไว้ก่อนว่าจะกลับดึกอย่างนี้ ลูกไปไหนมาจ๊ะ
กลอยใจ: (เดินไปเล่นเปียโน กดโน้ตเพลงทำนองป๊อบเบาๆ ใช้มือเดียว พูดเสียงประชด) กลอยเล่นเพลงใหม่บ้างได้ไหมคะ วันนี้
ทิพยา: (ถอนใจ) ลูกอย่าหายไปดึกๆ อย่างนี้อีกนะจ๊ะ ถ้าจะไปก็บอกทางบ้านไว้ก่อน จะได้รู้ แล้วไม่ห่วงกันอย่างนี้
กลอยใจ: แม่ห่วงกลอยด้วยรึคะ
ทิพยา: ไม่ห่วงจะนั่งคอยอยู่อย่างนี้รึ
กลอยใจ: ไม่ต้องห่วงก็ได้ค่ะ กลอยมีคาถาอยู่ยงคงกระพัน
ทิพยา: (หัวเราะ เอาใจ) คาถาอะไรจ๊ะ
กลอยใจ: คาถาว่า "ช่วยตัวเองก่อนนะลูก แม่ต้องช่วยน้อง" คาถาแม่ให้คุ้มภัยทุกประเภท
ทิพยา: (หมดแรง) โธ่...ลูก
กลอยใจ: กลอยจะไปดูพ่อหน่อย แล้วนอนละค่ะ ง่วงจัง
กลอยใจหาวนอนจะเดินออก พิภพสวนเข้ามา
พิภพ: กลับมาแล้วรึ แม่ตัวดี (เดินเข้ามาหยิกแก้มกลอยใจ)
กลอยใจ: (พูดเร็วปร๋อ ประจบประแจง) พ่อไม่ดุนะคะ กลอยขอโทษ (กราบที่อก) กลอยจะไม่กลับดึกอย่างนี้อีก จริงๆ ค่ะ
พิภพ: จริงรึ ให้เชื่อมั้ย
กลอยใจ: โอ๊ย เอางี้ดีกว่าถ้ากลอยจะกลับเกินสี่ทุ่มกลอยจะบอกไว้ก่อน หรือไม่ก็โทรมาบอก จะได้ไม่ห่วงดีไหมคะ เอ เอาห้าทุ่มดีกว่านะคะ
พิภพ: (หัวเราะ) ย่ะ ย่ะ แม่ตัวดี เอาละไปไหนมา พอจะบอกกันบ้างได้ไหม
กลอยใจ: บอกซิคะ บอก เที่ยวบินชนินทร์เข้าเมื่อเช้า เค้าก็เลยเลี้ยงฉลองปริญญาให้กลอย เขาซื้อตุ้มหูมาฝาก (เอียงคอให้ดูภูมิใจในความสวยของตน) สวยไหมพ่อขา
พิภพ: (เอ็นดู) มีของฝากเกือบทุกเที่ยวเชียวนะ เลี้ยงอะไรกันดึกนัก
กลอยใจ: อ๋อ ไปต่อค่ะ ไปดริ๊งกันต่อที่แบล๊กอิ้งค์ พ่ออย่าทำหน้ามุ่ยซิคะ นี่ครั้งแรกนะคะที่กลอยไปนั่งดริ๊ง
พิภพ: แล้วเป็นไงล่ะ
ทิพยา: (ฟังพ่อลูกพูดกันอย่างงงๆ) ใครกันชนินทร์ คุณก็รู้จักด้วยหรือ
พิภพ: เอ เขาเป็นผู้ช่วยนักบิน แฟนกลอยใจ เอ๊ะแฟนหรือว่าที่
กลอยใจ: แหม พ่อ เอาว่าที่ก็แล้วกัน พ่อเห็นไหม เข็มขัดที่พ่อซื้อมาฝาก เพื่อนๆ ชอบกันใหญ่
พิภพ: อ้าว ใส่ได้แล้วเหรอ ไหนเมื่อเช้าว่าใหญ่ไป
กลอยใจ: เจาะรูอีกรูแล้วก็พอดี (หมุนตัว เอียงคอถามพ่อ) สวยไหมคะ ชนินทร์ชมว่าสวย (นึกถึงแม่) แม่คะ นอนเถอะค่ะดึกมากแล้ว (สองพ่อลูกเดินออกไป กลอยใจฮัมเพลง)
พิภพ: (หยุดหันมาเรียกทิพยา) พรุ่งนี้คุณมีสอนแต่เช้าไม่ใช่หรือ
พิภพออกไป
ทิพยาก้มเก็บหนังสือตำราที่วางคว่ำไว้
แก้วตาใส่เสื้อกางเกงนอน แต่คาดเข็มขัดใหญ่สีดินเผา เดินขยี้ตาเข้ามา ท่าทางงัวเงีย เธอรูปร่างค่อนข้างท้วม ไม่เปรียวเหมือนพี่สาว ผิวขาว หน้าตางดงามอ่อนหวาน อายุ 19 กิริยาท่าทางเหมือนคนปกติ เคลื่อนไหวค่อนข้างช้า ดูนุ่มนวล ไม่มีจริต
แก้วตา: แม่ขา เสียงใครคุยกัน ดึกแล้วทำไมแม่ไม่นอนคะ
ทิพยา: พี่กลอย เพิ่งกลับบ้านจ้ะ ก็เลยคุยกันกับพ่อแม่
แก้วตา: พี่กลอยกลับดึกอย่างนี้คงเหนื่อยใช่ไหมคะ
ทิพยา: คงไม่หรอกจ้ะ
แก้วตา: (ไม่ฟัง) แก้วตาจะไปเอาน้ำเย็นให้พี่กลอย พี่กลอยเหนื่อยใช่ไหมคะ
ทิพยา: (รั้งแก้วตาไว้) ไม่ต้องจ้ะแก้วตา พี่กลอยเขาไปนอนแล้ว
แก้วตา: แก้วตาจะไปเอาน้ำเย็นให้แม่ แม่อ่านหนังสือดึกๆ แม่เหนื่อยใช่ไหมคะ
ทิพยา: ไม่จ้ะ แม่ไม่หิวน้ำ นี่ทำไมแก้วตาคาดเข็มขัดนอนจ๊ะ
แก้วตา: (เอามือลูบไล้เข็มขัด เอิบอิ่มในสัมผัส) พ่อให้แก้วตา
ทิพยา: ใช่จ้ะ พ่อให้สำหรับแก้วตาใช้ตอนกลางวัน ให้แก้วตาดูสวยยังไงล่ะ (เอื้อมมือไปที่หัวเข็มขัดเพื่อช่วยถอด) มาแม่ช่วยถอด คาดนอนก็อึดอัดแย่ซิ
แก้วตากดมือทิพยาที่หัวเข็มขัด เพื่อหยุดยั้งโดยไม่ขัดขืน
แก้วตา: แก้วตาชอบ แก้วตาใส่เองด้วย ปิ่นไม่ได้ช่วยเลย (ภูมิใจ)
ทิพยา: (ถอนใจ เอ็นดู) ตามใจ แม่กลัวลูกจะนอนไม่สบาย
แก้วตาเอามือลูบไล้ลำตัว เอว เข็มขัดและสะโพกตัวเองช้าๆ
แก้วตา: แก้วตานอนสบาย พอตื่นขึ้นมาเข็มขัดมันก็อุ่นแล้วก็นุ่มเหมือนเนื้อแก้วตาเลย
ทิพยา: (หัวเราะ โอบไหล่แก้วตา) ไป ไปนอนต่อได้แล้ว (แก้วตาไถลไปที่เปียโน) ไม่เอา ไม่เอา ดึกแล้ว ใครๆ เค้านอนกันแล้ว
แก้วตา: แก้วตาจะเล่นเบาๆ เพราะๆ กล่อมพ่อได้ไหมคะ
ทิพยา: (โอบไหล่แก้วตาเดินออกจากเวที) ไม่เอา ดึกแล้ว
ฉากที่ 5

บ้านพิภพ
แก้วตาเล่นเปียโน ทิพยายืนอยู่ข้างๆ เพลงที่เล่นตอนนี้เป็นทำนองง่ายๆ เห็นได้ว่าแก้วตา พยายามดึง
ทิพยาไว้กับความสามารถของเธอ
แก้วตา: (หยุดเล่น) แม่ชอบมั้ยคะ เพลงวันนี้
ทิพยา: ชอบจ้ะ แต่มือซ้ายมันไม่ค่อยสนุก เลยสู้เพลงเมื่อวานไม่ได้
แก้วตา: (พยายามนึก) เอ๊ะ เพลงเมื่อวานเป็นไงนะ วันนี้ก็มีแต่เพลงวันนี้ซิคะ
ทิพยา: ก็เพลงที่แก้วตาเล่นให้พ่อฟังเมื่อวานไง
แก้วตา: อ๋อ...อ...อ๋อ เพลงที่เล่นเมื่อวาน เพลงวันนี้ของเมื่อวาน เอ แต่แก้วตาจำไม่ได้แล้ว อย่างนี้ใช่ไหมคะ
แก้วตาเล่นทำนองเดิม แต่มือซ้ายเพิ่มบทบาทขึ้นเรื่อยๆ ล้อทำนองมือขวา พิภพกลับจากทำงานถือกระเป๋าเอกสารเข้ามาเดินตรงไปชงกาแฟ เพลงแก้วตาเพิ่มชีวิตชีวาขึ้นทันที แต่เมื่อพ่อไม่สนใจก็หยุดเล่น ลุกขึ้นไปหา
แก้วตา: พ่อเหนื่อยใช่ไหมคะ แก้วตาจะไปเอาน้ำเย็นมาให้นะคะ (เดินออกไป)
ทิพยา: (ช่วยชงกาแฟ) เป็นไงบ้างคะ ที่แบงก์วันนี้
พิภพ: ยุ่งหน่อย ใกล้สิ้นเดือน
แก้วตาถือแก้วน้ำเข้ามาส่งให้พิภพ มองพ่ออย่างใจจดใจจ่อ
พิภพ: ขอบใจจ๊ะ พ่อขอดื่มกาแฟก่อนนะ แก้วตาทำอะไรที่โรงเรียนวันนี้
แก้วตา: วันนี้ที่โรงเรียนเลิกทำรูปเรือใบแล้ว เขาให้ต่อรถไฟ แก้วตาอยู่แผนกติดสติ๊กเกอร์รถไฟ พ่อขา
พิภพ: อือ
แก้วตา: วันนี้มีครูใหม่ วาดรูปเก่ง ปั้นก็เก่ง
ทิพยา: ครูชื่ออะไรจ๊ะ
แก้วตา: ครูเป็นผู้ชาย ชื่อ (หยุดคิด) กฤช
พิภพ: ทิพยา อย่าลืมนะ งานเลี้ยงที่สำนักงานใหญ่วันเสาร์
ทิพยา: (ซ่อนความเบื่อ) เอ ปิ่นว่าจะลาไปบ้าน คงต้องให้กลอยใจอยู่กับแก้วตา (ถอนใจ)
พิภพ: งานใหญ่นะ ตำแหน่งอย่างเราต้องไปให้ผู้ใหญ่เห็นหน้าเห็นตา
แก้วตา: (รอความสนใจจากพ่อ จนทนไม่ไหว) พ่อขา
พิภพ: อืม ว่าไง
แก้วตา: วันนี้พ่อมีลูกค้ามาฝากเงินธนาคารเยอะไหมคะ
พิภพ: ไม่ค่อยเยอะหรอกจ้ะ
แก้วตา: (หน้าเสีย) งั้นพ่อจะผ่อนส่งเปียโนไม่ได้ใช่ไหมคะ (กังวล)
พิภพ: ได้ซิ เดือนนี้ก็หมด (หงุดหงิดขึ้นมา) นี่ ทีนี้อย่ามาแอบฟังพ่อแม่คุยกันนะ ฟังรู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่ง แล้วมาพูดให้พ่อรำคาญ
ทิพยา: (โอบไหล่แก้วตา) พิภพคะ
พิภพ: (เครียด ลูบหัวแก้วตาซึ่งยืนน้ำตาคลอ แล้วเดินหนี) เอาเถอะๆ ผมยุ่งมาทั้งวัน
ทิพยาพาแก้วตามานั่งที่เปียโน
แก้วตา: (พูดเหมือนเครื่องจักร) พ่อเหนื่อยหาเงินผ่อนส่งเปียโนใช่ไหมคะ
ทิพยา: ไม่ใช่จ้ะ ไม่เกี่ยวกับเปียโนหรอก
แก้วตา: (เหมือนเครื่องจักร) วันนี้ลูกค้าที่แบงก์ไม่เยอะ ใช่มั้ยคะ
ทิพยา: จ้ะ (เหลือบมองพิภพซึ่งเดินออกจากเวทีด้วยความรำคาญ) แก้วตาอย่าพูดเรื่องซ้ำๆ ซิจ๊ะ เล่นเปียโนดีกว่า
แก้วตามองตามพ่อจนลับตา เริ่มเล่นเพลงที่ทิพยาเรียกในใจว่า เพลง "พ่อขา" เป็นเพลงกระท่อนกระแท่น ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีคอร์ด ให้ความรู้สึกงุนงง อกหักเกือบไม่เป็นทำนอง
ขณะเล่นแก้วตาเริ่มโยกตัวน้อยๆ แข็งๆ คล้ายโต้งแต่น้อยกว่ามาก รู้สึกโดดเดี่ยวไม่รับรู้สิ่งแวดล้อม
ทิพยา: (รีบเข้ามากอดแน่น เขย่าเบาๆ) แก้วตา พ่อไปอาบน้ำเดี๋ยวมา แก้วตา เดี๋ยวพ่อมา
แก้วตาหยุดโยก ซุกในอ้อมกอดทิพยา คล้ายขอความเชื่อมั่น
แก้วตา: (เหมือนเครื่องจักร) แก้วตาจะไม่พูดซ้ำซาก พ่อไม่ชอบคนพูดซ้ำซาก
ทิพยา: จ้ะ จ้ะ แม่รู้ แม่รู้
แก้วตา: แม่ขา แก้วตาอยากให้แม่เจอครูกฤช
กลอยใจเดินเข้ามาแต่งตัวเก๋
ทิพยา: แหม ดูอารมณ์ดีจัง เรื่องงานว่าไง
กลอยใจ: ข่าวดี แม่ สยามแอร์เรียกตัวแล้ววันจันทร์หน้า ดีใจไหมคะ
พิภพเข้ามา กลอยใจวิ่งไปหา
กลอยใจ: พ่อขา สยามแอร์เรียกตัวแล้ว ดีใจมั้ยคะ ชนินทร์เชียร์ใหญ่
พิภพ: (โอบไหล่) แจ๋ว แจ๋ว คนเก่งของพ่อ เอ แต่คงจะยิ่งไม่เห็นหน้าเห็นตาละซี
กลอยใจ: ไม่ถึงยังงั้นหรอกค่ะ ได้บินมาหาพ่อที่ภูเก็ตบ่อยๆ ไง
ทิพยา: พ่อยังไม่แน่หรอกจ้ะเรื่องภูเก็ต แหม กลอยบินบ่อยๆ แม่คงเป็นห่วง
กลอยใจ: แม่ไม่ดีใจรึคะ จะได้มีเวลาให้แก้วตาเต็มที่ (อวดแก้วตา พอใจที่ตนเหนือกว่า) แก้วตาพี่จะได้บินรู้มั้ย
แก้วตา: บินกับเครื่องบินหรือพี่กลอย
กลอยใจ:จ้ะ จ้ะ
แก้วตา: พ่อขา เครื่องบินกับนกใครจะบินสูงกว่ากันคะ
กลอยใจ: พรุ่งนี้พี่ยืมเข็มขัดนะ ไม่เห็นแก้วตาใช้มันเลย
แก้วตา: (งง) อะไร...
กลอยใจ: (รำคาญ) ก็เข็มขัดที่พ่อให้
แก้วตา: แก้วตาคาดนอนทุกคืนเลย
กลอยใจ: ให้ใครดูล่ะ ปิ่นหรือ (หัวเราะ)
แก้วตา: มันกอดเอวแก้วตาไว้ให้หลับสบาย
กลอยใจ: ให้พี่ใส่ไปงานพรุ่งนี้นะ นะจ๊ะ
แก้วตา: (ไม่สบายใจ) เอาไปไม่นาน ใช่มั๊ย
กลอยใจ: (มองหน้าน้องพักหนึ่ง) เอ้า หวงนักก็ไม่เอา
ปิ่น: (โผล่เข้ามา) ข้าวจะเสร็จแล้วค่ะ คุณทิพจะผัดผักเองใช่มั้ยคะ
พิภพ: มา แก้วตามากินข้าว
ทิพยาออกไปกับปิ่น กลอยใจตามออกไป แก้วตาเดินตามกับพ่อ ตั้งคำถามที่ไม่มีใครสนใจจะตอบ
แก้วตา: พ่อขา เครื่องบินกับนกใครจะบินสูงกว่ากันคะ
เวทีว่าง ไฟหรี่ แสดงให้เห็นว่าช่วงอาหารค่ำผ่านไป
ไฟสว่างขึ้นเมื่อทิพยากับพิภพเดินกลับเข้ามา ทิพยาชงกาแฟให้พิภพ
พิภพ: (เสียงเข้ม) เรื่องย้ายไปภูเก็ตน่ะ เขาร่นเวลาเข้ามา ทางโน้นมีปัญหา
ทิพยา: (เอากาแฟส่งให้ ไม่มองหน้า) ไม่เปลี่ยนใจรึคะ
พิภพ: จันทร์หน้าผมต้องเดินทาง วันพุธจะรับงาน
ทิพยา: (มองพิภพ แล้วเริ่มจัดข้าวจัดโน่นจัดนี่พรางความน้อยใจ) แล้วฉันกับลูกๆ ล่ะ
พิภพ: (ตอบรับ) ก็ตามผมมา ถ้าคุณจะตามมา (นิ่งมองทิพยา) นี่คุณเรื่องนี้เราพูดกันแล้ว แค่กำหนดมันร่นเข้ามาเท่านั้นน่ะ บ้านนี้ก็ให้เช่า ทางโน้นแบงก์ก็เช่าบ้านให้ คุณจะเอาอะไรอีก
ทิพยา: งานฉันล่ะ
พิภพ: บอกแล้วไงให้ลาออก ภูเก็ตมันเมืองคนรวย คุณติวลูกเศรษฐีเอ็นมหาวิทยาลัยซิ ไหนจะค่าเช่า ไหนจะเงินเดือนใหม่ผมอีก หมดกันทีหนี้สิน (เดินไปเดินมา) ผมยอมคุณทุกที จนอายุปาเข้าสี่สิบหกเพิ่งจะได้เป็นผู้จัดการเขตกับเค้า (หัวเราะเยาะตัวเอง)
ทิพยา: แก้วตาล่ะจะเป็นยังไง คุณทราบมั้ยอาทิตย์ที่แล้ว แก้วตาติดสติ๊กเกอร์รถไฟได้วันละร้อยกว่าขบวน รวมพันห้าสิบขบวน ลูกภูมิใจที่แกช่วยคุณหาเงินได้ คุณก็รู้ว่ามันสำคัญกับแกแค่ไหน
พิภพ: แก้วตาไม่มีวันจะเป็นคนปกติมาได้ แค่นี้ใครๆ ก็ว่าเหลือเชื่อ ทิพยา พอกันทีกับ(ประชด) ไอ้หนี้บาปของคุณนี่น่ะ
ทิพยา : (หันขวับ) ไม่ใช่หนี้บาปของใครทั้งนั้น เรา 2 คน ทำให้แกเกิด ถ้าเราตายก่อนแก...
พิภพ: (ตะโกนขัด โกรธ) ถ้า ถ้า
ทิพยา: (พยายามคุมอารมณ์ เน้นคำว่า "ถ้า") ถ้าฉันลาออก แล้ววันหลังคุณเป็นอะไรไปล่ะ แก้วตาภูมิใจที่แกทำงานได้ แกมีโลกของแก จะเอาแกไปอยู่ยังไง ไม่มีงาน ไม่มีเพื่อน
พิภพ: (กระชากเสียง) ก็วนกันอยู่แค่นี้
ทิพยา: คุณไปเยี่ยมโต้งบ้างซิ ป้อมเค้าเก็บโต้งไว้ในห้องหลังบ้าน คุณไปดูกับตาบ้างซิ คุณรักแก้วตา คุณเคยรักแกมาก
พิภพ: วันจันทร์ผมจะบินเที่ยวเย็น คุณคิดให้ดีก็แล้วกัน
เงียบงันกันครู่หนึ่ง อารมณ์พิภพเปลี่ยนเป็นเศร้า อ่อนโยน
พิภพ: ทิพยาคุณเปลี่ยนไปมากนะ จำได้มั้ย เมื่อแต่งงานใหม่ๆ คุณเคยฉุดผมไปดูหนัง วันเดียวสามเรื่อง เอาซะผมตาลาย
ทิพยา: (หัวเราะ) หรือคะ จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่วันที่เราชวนกันไปฉลองตอนฉันท้องกลอยใจ คุณเลี้ยงข้าวฉันที่โรงแรมเอราวัณ มื้อนั้นเงินเดือนคุณหมดเกือบครึ่งเดือน พอกลับบ้านฉันก็แพ้ท้องอ้วกออกมาหมดเสียดายแทบตาย (หัวเราะ)
พิภพ: (หัวเราะ) เอ้อแปลกนะ ผมจำไม่ยักได้
เงียบกันไปอีกครู่ พิภพลุกขึ้นจะเดินออก
พิภพ: นั่นน่ะซี จะเอาอะไร ความหลังยังจำกันคนละเรื่อง
พิภพเดินออก เห็นแก้วตาที่ริมเวที แก้วตาในชุดกางเกงนอน เข้ามายืนง่วนอยู่กับการขัดเข็มขัด ใช้ความพยายามแล้วสมาธิอย่างยิ่งยวด พิภพหยุดมองด้วยความรู้สึกปนเปบอกไม่ถูก
พิภพ: (อ่อนโยน เดินเข้าไปหา) มาพ่อทำให้
พิภพขัดเข็มขัดให้แก้วตา แก้วตาอบอุ่น มีความสุข
ฉากที่ 6

ห้องโรงงาน ในโรงเรียนสอนคนปัญญาอ่อนระดับ educable
แก้วตา สาวิตรี ศิระและคนอื่น ๆ นั่งโต๊ะยาว ติดสติ๊กเกอร์รถไฟพลาสติกสีต่างๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ อีกโต๊ะหนึ่ง เด็กหนุ่มสาวปัญญาอ่อนที่ I.Q. ต่ำลงไป นั่งต่อรถไฟให้เป็นขบวนเพื่อส่งมาติดสติ๊กเกอร์ ภาพหน้าสัตว์ต่างๆ ที่ช่องหน้าต่างรถ ครูชายรับผิดชอบโต๊ะต่อรถไฟ กฤชดูแลโต๊ะติดสติ๊กเกอร์
สาวิตรี: ทำหมดแล้วค่ะ ครู
ครูชาย: (เทตู้รถไฟกองลงบนโต๊ะ) เอานี่อีกหกสิบตู้นะ ได้อีกสามสิบขบวน
ศิระวัยเดียวกับแก้วตา รูปร่างใหญ่ ท่าทางและวิธีพูดตุ้งติ้งคล้ายผู้หญิง ชี้นิ้วท้าวสะเอว คล้ายเลียนแบบสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ ศิระหงุดหงิดทำผิดๆ ถูกๆ ลุกขึ้นยืนเรียกกฤช
ศิระ: ครูเวศน์ฮะ
กฤช: ว่าไงล่ะ (เดินมามองงานของศิระ)
แก้วตาแอบชำเลืองมองตามกฤช สลับกับก้มหน้าทำงานให้เร็วที่สุด เรียบร้อย...แล้วหยุดนับขบวนรถไฟที่ติดสติ๊กเกอร์เสร็จเป็นพักๆ นั้น อย่างค่อนข้างซ้ำซาก
ศิระ: สติ๊กเกอร์ชุดนี้กาวไม่ดี ไม่ได้ความเลย
กฤช: ไหนดูซิ (ทดลอง) เอก็ดีนี่ ศิระว่ามันไม่ดียังไง
ศิระ: (หงุดหงิด ไม่ทันใจ) แปะเบี้ยวหมดแล้วจะว่าดียังไง กาวมันเก่าน่ะ ของแก้วตากาวดีกว่าเยอะ
แก้วตา: ทำไมรู้ล่ะ (เงยขึ้นถามยิ้มๆ แล้วก้มหน้าทำงานต่อ นิ้วเธอคล่อง ท่าทางประณีต ช้ากว่าคนปกติเพียงเล็กน้อย)
ศิระ: (ลุกขึ้นยืนอีกเพื่อชะโงกมอง) ก็เห็นไหมล่ะ กาวดีออก แปะตรงเพะหมดเลย ครูเวศน์ฮะขอสติ๊กเกอร์ดีๆ ให้ผมมั่งซิ
กฤช: แก้วตา ขอแลกสติ๊กเกอร์ทั้งสามชุด อย่างละแผ่นนะ
แก้วตารีบเลือกส่งให้ ยิ้มแย้มอ่อนหวานเหมือนเคย กฤชส่งของให้ศิระ
กฤช: เอาละ ศิระ ได้สติ๊กเกอร์กาวดีๆ ของแก้วตาแล้วนะ เอาละ เล็งให้ตรงๆ ดูขอบ นี่นะหน้าต่างรถไฟ...ช้าๆ ...อย่าแปะให้เลยขอบ แจ๋วตรงแล้ว เห็นไหมได้กาวดี
ศิระ: ก็นั่นน่ะซี กาวดีจะตาย ไม่ตรงได้ยังไง
กฤช: (หัวเราะ) เอ้าค่อยๆ ทำ เดี๋ยวก็เร็วขึ้นเอง (หยิบของที่ศิระทำเสร็จไปก่อนแล้วมาพิจารณา) เอ ก็ตรงนี่ (พูดกับศิระเหมือนเป็นเพื่อน) ถามจริงๆ เถอะ เมื่อกี๊กาวไม่ดี หรืออารมณ์ไม่ดี
ศิระ: กาวไม่ดี (เงียบ มองกฤชแล้วหัวเราะ) อารมณ์ก็ไม่ดีด้วย จะดีได้ไง
กฤช: ทำไมล่ะ
ศิระ: ก็แก้วตาเค้าไม่เชื่อว่าปิศาจปักกิ่งเข้าสิงแม่ครัวบ้านผม
แก้วตา: เอ้าเชื่อก็ได้ เชื่อแล้ว
ศิระ: (ยังงอน) คุยด้วยก็ไม่ตอบ เค้าว่าเค้าต้องติดสติ๊กเกอร์ให้ได้เยอะ ๆ
แก้วตา: (เขิน) ก็เธอพูดมากน่ะ หนูหนวกหูค่ะครู
ศิระ: (ไม่ลดละ) เค้าอยากได้ค่าแรงเยอะ ๆ ไปช่วยพ่อเค้าผ่อนเปียโน เขาคิดเพลงเก่ง รู้ไหมครู
แก้วตา: หนู...หนู...(มองกฤช หมดปัญญาจะอธิบาย) หนูหนวกหู
ครูชาย: (จากอีกมุมห้อง) หยุดพัก ทุกคนนับรถไฟได้เท่าไรจดไว้บนแผ่นงาน เดี๋ยวครูจะมาตรวจ (ดูให้เด็กปฏิบัติตาม) แล้วออกไปกินขนมได้ พักผ่อนที่ห้องกลางนะ
ทุกคนนับชิ้นงาน เร็วบ้าง ช้าบ้าง เห็นชัดว่าแก้วตาทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ ตัวละครทยอยออกจากเวที เหลือครูชายกับกฤช ตรวจงานกันคนละด้าน แก้วตาคอยแอบชำเลืองดูกฤช ไม่อยากออกไปจากห้อง อยู่ข้างนอกครู่เดียวก็กลับเข้ามา
กฤช: อ้าว ไม่กินขนมรึ
แก้วตา: ไม่อยากกินค่ะ พ่อบอกว่าหนูอ้วน (หยุดแล้วพูดเหมือนปลอบตัวเอง) แม่บอกหนูไม่อ้วน
กฤช: แล้วเชื่อใครล่ะ
แก้วตา: (ลังเล ตอบไม่ถูก) หนูเชื่อทั้ง 2 คน ได้ไหมคะ (กฤชหัวเราะ) พ่อชอบคุยกับพี่กลอย พี่กลอยสวย ผอม แล้วแฟนพี่กลอยก็ขับเครื่องบินได้ พี่ชนินทร์เค้าก็คุยแต่กับพี่กลอย
กฤช: แก้วตาก็คุยกับ คุณพ่อคุณแม่ซี
กลอยใจ: บางทีพ่อรำคาญหนู เพราะหนูฟังพ่อแม่คุยกันรู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่ง (พูดซ้ำแบบคนปัญญาพิการ) พ่อว่าหนูอ้วนไป แต่พ่อให้เข็มขัดหนูก็คาดได้
ศิระ: (เข้ามายืนฟัง) ไม่อ้วนหรอก อย่างนี้กำลังดี อย่างสาวิตรีสิ (ทำสุ้มเสียงขนลุกขนพอง) ปิศาจกุ้งแห้งยืดตัว (มองแก้วตาเหมือนกรรมการตัดสินนางงาม) อย่างแก้วตานี่ ผมว่ากำลังดีนะครู หน้าก็สวย จริงไหม
แก้วตาคอยคำตอบอย่างจดจ่อจนแทบลืมหายใจ
กฤช: (พยายามหาทางออกที่เหมาะสม) ไม่อ้วนหรอก คุณพ่อคงล้อเล่นน่ะ
ศิระ: เมื่อไหร่เลิกทำ ไอ้กิ้งกือ กิ้งกือ กิ้งกือ เนี่ย (ใช้นิ้วจี้ขบวนรถไฟทีละขบวน ทำหน้าขยะแขยง)
กฤช: ทำไมล่ะ เบื่อแล้วหรือรถไฟ
ศิระ: ไม่เบื่อ แต่ทำไมเอาหมาจิ้งจอก สิงห์โต ยีราฟ มาติด พวกนี้มันนั่งรถไฟกันได้หรือฮะ
กฤช: ก็นี่มันของเล่นเด็ก
ศิระ: อ๋อ ไว้หลอกเด็กใช่มั้ย
กฤช: เอาเถอะ ไปกินขนมเถอะไป
ศิระเดินออกไป
กฤช: (พูดไล่หลัง) อาทิตย์หน้า เขาก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว
แก้วตา: หรือคะ ดีจัง
กฤช: อ้าว แก้วตาไม่ชอบรถไฟรึ
แก้วตา: ไม่ใช่ค่ะ หนูชอบนั่งรถไฟไปเยี่ยมคุณยายที่แพร่ (นิ่งไป) พ่อบอกว่ารถไฟมันต้องมีราง รางมันต้องเป็นเหล็ก รถไฟมันน่าสงสารมั้ยคะ
กฤช: (สนใจ) ทำไมล่ะ
แก้วตา: (งง) ไม่รู้ค่ะ (ทำงานเงียบๆ ไปครู่) รถไฟมันเลี้ยวออกนอกรางก็ไม่ได้ใช่มั้ยคะ พ่อบอกว่าถ้าไม่มีรางมันก็วิ่งไม่ได้...
กฤช: แก้วตาไม่ชอบรางมันหรือจ๊ะ ถึงได้สงสารรถไฟ
แก้วตา: (มองกฤช พยายามคิดหาคำตอบ) ไม่ทราบซิคะ
กฤชดึงคัตเตอร์จากกระเป๋าเสื้อ ใช้คัตเตอร์ตัดแผ่นสติ๊กเกอร์ เตรียมงานขั้นต่อไป แก้วตาดูกฤชทำงาน และทำของตัวเองไป
แก้วตา: ครูนั่งรถไฟมั่งไหมคะ
กฤช: นั่งซิ นั่งไปบ้านครูที่อุบล จังหวัดอุบลราชธานี
แก้วตา: อุบลอยู่ที่แพร่หรือคะ
กฤช: ไม่ใช่จ้ะ แพร่อยู่ทิศเหนือ อุบลอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
แก้วตา: ตะวันออกก็ท้องฟ้าตรงพระอาทิตย์ขึ้นใช่ไหมคะ แก้วตาจำได้ ครูเพ็ญเคยสอน อู๊ย...รถไฟมีรางไปทางพระอาทิตย์ขึ้นด้วย...ดีจัง
กฤช: (มองแก้วตาแต่รำพึงกับตัวเอง) ดีจัง ดีใจเพราะเธอคิดไปว่าเจ้ารถไฟติดรางจะไปถึงขอบฟ้าได้งั้นหรือ
แก้วตา: หนูอยากชวนพ่อกับแม่ขึ้นรถไฟไปที่ท้องฟ้าตรงพระอาทิตย์ขึ้น คงไกล๊ ไกล ใช่ไหมคะ
กฤช: (กับแก้วตา) ไปไม่ถึงหรอกแก้วตา (กับตัวเอง) รางเหล็กมันยึดเธอไว้
แก้วตา: บ้านครูที่จังหวัดอุบล มีต้นไม้สูงๆ เยอะเหมือนบ้านยายที่แพร่ไหมคะ
กฤช: ไม่หรอก บ้านครูต้นไม้น้อย มองทางไหนก็เห็นแต่ฟ้ากว้างจนแทบไม่เห็นขอบ
แก้วตา: (เงียบไปนาน) เวลามองฟ้าเห็นนกบินบ้างไหมคะ
กฤช: เห็นซิ
แก้วตา: ครูว่าเครื่องบินที่พี่ชนินทร์เค้าขับ บินได้สูงกว่านกไหมคะ
กฤช: สูงกว่าซิ มีเครื่องนี่
แก้วตา: หนูว่าบินสูงเท่านกก็พอ...เครื่องบินเสียงดังมากใช่ไหมคะ
กฤช: (คิดตามแก้วตา) ใช่จ้ะ
ทิพยาเข้ามาหยุดยืนมองแก้วตากับกฤช โดยทั้งสองไม่รู้ตัว
แก้วตา: ถ้าหนูกับครูเวศน์นั่งเครื่องบินไปด้วยกัน เราคงไม่ได้ยินเสียงท้องฟ้าใช่ไหมคะ
กฤช: (เริ่มหวั่นไหว) ใช่เราคงไม่ได้ยินเสียงท้องฟ้า แก้วตาชอบนกรึ
แก้วตา: ชอบค่ะ ครูวาดรูปนกกับก้อนเมฆให้หนูดูได้ไหมคะ
กฤช: ได้ซิ
กฤช: วาดรูปไป ฟังแก้วตาคุยไป
ทั้งคู่รู้สึกสบายในความเข้าใจ และใกล้ชิดกัน
แก้วตา: หนูชอบดูนกบิน บางทีมันเอาปีกไปแตะก้อนเมฆแน่ะ เหมือนครูวาดเลย แล้วบางทีมันบิน สูง สูง ขึ้นไป...
กฤช: (ยังวาดอยู่) เจาะก้อนเมฆหายขึ้นไป อย่างนี้ใช่ไหม
แก้วตา: (หัวเราะ) ใช่ ใช่ หนูชอบเวลามันทำอย่างงั้น แล้วบางตัวมันเอาปีกวาดท้องฟ้าเป็นวงเหมือน เหมือนอะไรล่ะ โค้ง ๆ หลาย ๆ สี
กฤช: รุ้ง รุ้งกินน้ำ
กฤชหยุดทำงาน ใจรับภาพคิดของแก้วตา ทิพยาเข้ามาขณะที่แก้วตาพูด ยืนมองโดยที่ทั้งสองไม่รู้ตัว
ทิพยา: ครูกฤช ใช่มั๊ยคะ
กฤช: ครับ
ทิพยา: ดิฉันมารับแก้วตาไปหาหมอฟัน
กฤช: ครับ อาจารย์นงนุชบอกผมไว้แล้ว
แก้วตา: แก้วตายังไม่อยากไป ครูยังวาดรูปไม่เสร็จ
ทิพยา: แก้วตารักคุณหมอใจดีไม่ใช่รึจ๊ะ แม่ไม่อยากให้คุณหมอใจดีคอยนานนะจ๊ะ
แก้วตา: แก้วตายังไม่อยากไป
กฤช: พรุ่งนี้ครูจะระบายสีรูปให้ แต่แก้วตาต้องไปกับคุณแม่ก่อน
แก้วตาเก็บของอย่างไม่เต็มใจ
ทิพยา: ครูเพิ่งมาสอนหรือคะ
กฤช: ครับ ย้ายมาเทอมนี้
ทิพยา: ครูเอกมาทางไหนคะ
กฤช: ผมจบจิตรกรรมครับ
ศิระเข้ามา
แก้วตา: (น้ำเสียงต่อว่า ไม่พอใจ) วันนี้แก้วตาไม่อยากไปหาหมอ แก้วตาไม่ชอบให้แม่มารับเร็ว
ศิระ: (เดินมาไหว้ทิพยา) สวัสดีฮะ ทำไงแก้วตาเค้าจะคุยกับผมล่ะฮะ เค้าเอาแต่คุยกับครูเวศน์ ไม่เอาไหนเล้ย
ฉากที่ 7
บ้านพิภพ
แก้วตาหม่นหมอง เล่นเปียโน เพลง 'พ่อขา' โยกตัวน้อยๆ ทิพยาเข้ามาหยุดฟังแต่ไม่มีกำลังใจจะปลอบ เมื่อเพลงจบแก้วตานั่งเงียบ ยังโยกตัว ทิพยาเข้าไปเอามือวางบนไหล่ แก้วตาเบี่ยงตัว ลุกขึ้นจ้องทิพยา
แก้วตา: เมื่อไหร่พ่อจะกลับมา
ทิพยา: (ใจหาย) พ่อบอกแล้วไง เดือนหน้าพ่อจะมา พ่อบอกที่สนามบินไง จำไม่ได้หรือจ้ะ
แก้วตา: (เสียงดังขึ้นทุกที จนเกือบกลายเป็นเสียงกรีดร้อง) แม่ทะเลาะกับพ่อ พ่อถึงได้ไป พ่อรักแก้วตา พ่อรักแก้วตา พ่อไม่อยากไป พ่ออยากอยู่กับแก้วตา แม่ทะเลาะกับพ่อ แม่ไล่พ่อไป
ทิพยา: ไม่ใช่จ้ะ พ่อไปทำงาน พ่อก็บอกแก้วตาแล้วไงจ๊ะ แม่รักแก้วตา (ค่อยๆ เดินเข้าไปหาแก้วตา แก้วตาถอย) แม่รักแก้วตา
แก้วตานิ่ง แล้วให้ทิพยาค่อยๆ เข้ามาใกล้ ทีละก้าวๆ ดึงตัวเข้าไปกอดเหมือนเด็กเล็กๆ เอียงหน้าซบไหล่แม่ร้องไห้
แก้วตา: แก้วตาก็รักแม่ แต่แก้วตาคิดถึงพ่อ แก้วตาอยากให้พ่อกอด (สะอึกสะอื้นสักครู่ แล้วเงยหน้า ถอยห่างจากแม่ ถามเสียงแข็ง) ทำไมแม่ทะเลาะกับพ่อ
ทิพยาหมดแรงถอยออก ทรุดนั่งบนเก้าอี้ ไฟเวทีหรี่มืด เห็นแต่ทิพยา
ทิพยา: (กับตัวเอง) ทะเลาะกับพ่อรึ
เสียงพิภพก้องเข้ามาในความคิด
เสียงพิภพ: จิตวิทยาการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม อาจารย์ทิพยาผู้อภิปรายทิ้งสัมมนาไม่ได้ แต่ทิ้งลูกเล็กๆ ที่กำลังไข้สูงไว้กับคนใช้ให้ชักจนสมองพิการ ผมไม่เคยพูดให้คุณเจ็บสักคำจริงไหม ผมเคยรักคุณมากนะทิพยา แต่คุณนั่นแหละทำให้ผมด้านชาจนผมไม่รู้แล้วว่าผมยังรักคุณอยู่หรือเปล่า...พัฒนา ใครๆ ก็ยกย่องคุณที่ช่วยแก้วตาให้พัฒนามาถึงอย่างนี้ เฮอะ อาจารย์ทิพยานักพัฒนามนุษย์ ผัวคุณก็มนุษย์ แต่คุณลืมไป ระวังนะทิพยา บาปที่คุณตั้งหน้าตั้งตาล้างอยู่นั่นน่ะ มันจะทับถมจนคุณแบกไม่ไหว คุณน่ะเก่งเกินไป
ฉากที่ 8
บ้านพิภพ
(ฉากเดิม)
แก้วตานั่งนิ่งที่เปียโน ลูบไล้คีย์บอร์ด เล่นเพลง 'พ่อขา' เบา ๆ กลอยใจแต่งตัวสวย ใส่กางเกงเปรี้ยว ฮัมเพลงเข้ามา
กลอยใจ: แก้วตา แม่อยู่ไหน
แก้วตา: อยู่...อยู่...เอ๊ะ...ไม่รู้อยู่ไหน
กลอยใจ: พี่เพิ่งกลับมาจากภูเก็ต พ่อฝากคิดถึงแก้วตา
แก้วตา: (สดใสขึ้นทันที) เมื่อไรพ่อจะมา แก้วตาคิดถึง
กลอยใจ: (ไม่ฟังน้อง) สนุกจังแก้วตา ชนินทร์สอนพี่เล่นสกีน้ำ ช้ำไปหมดทั้งตัว
แก้วตา: ช้ำยังไง ช้ำสีเขียว หรือสีม่วง
กลอยใจ: พ่อใหญ่นะที่นั่น ใครๆ เรียก เขต ...เขตพิภพ โก้กว่าเป็นผู้จัดการสาขาที่นี่ตั้งเยอะ คุณอรชรเกาะแจเชียว (หัวเราะ)
แก้วตา: ใครเกาะพ่อ
กลอยใจ: คุณอรชร ลูกสาวเถ้าแก่เจ้าของร้านอาหารใหญ่ริมทะเล เมื่อคืนก็เลี้ยงกันใหญ่
แก้วตา: คุณอรชร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
กลอยใจ: โธ่ แก้วตาก็ผู้หญิงซิ สวยด้วย นี่เห็นไหมเค้าให้กำไลพี่ เก๋มั้ย
แก้วตา: แล้วเมื่อไรพ่อจะกลับ แม่บอกอาทิตย์หน้า
กลอยใจ: อาทิตย์หน้ายังกลับไม่ได้หรอก คุณอรชรเค้ามีแขกจากเมืองนอก เขาจัดเรือไปค้างเกาะ
แก้วตา: ทำไมพ่อจะยังไม่กลับ
กลอยใจ: ก็เขาเชิญพ่อไปเที่ยวด้วยไง ฝรั่งคนนี้สำคัญนะ เขาจะมาลงทุนเมืองไทย นี่พี่จะบอกอะไรให้ แก้วตาฟังนะ
แก้วตา: เดี๋ยว แก้วตาไปเดี๋ยวเดียว
แก้วตาเดินออกไป กลอยใจฝันหวานเหมือนกับลอยอยู่บนก้อนเมฆ แก้วตาถือเข็มขัดกลับเข้ามา กลอยใจดึงแก้วตาให้มานั่งฟังตน
กลอยใจ: แก้วตามาคุยกับพี่มา พี่มีความสุขม้าก มาก มากที่สุดในโลก แก้วตาดีใจกับพี่ไหม
แก้วตาพยายามส่งเข็มขัดให้กลอยใจ ตลอดเวลาขณะที่กลอยใจกำลังพูด
แก้วตา: พี่กลอย แก้วตาให้พี่กลอย
กลอยใจ: แก้วตา พี่กับชนินทร์จะแต่งงานกันเดือนหน้า
แก้วตา: (พยายามยื่นให้) พี่กลอยอยากได้เข็มขัด แก้วตาให้
กลอยใจ: (ไม่ฟังน้อง) แก้วตาดีใจกับพี่มั้ย (มองเข็มขัดเพิ่งเข้าใจว่าแก้วตาพูดอะไร) ขอบใจจ้ะ พี่มีเยอะแยะแล้ว ชนินทร์เขาเอามาฝากจากเมืองนอก แก้วตารักมันก็เก็บมันไว้ซิ
แก้วตา: แก้วตาไม่รักมัน
กลอยใจ: (ตัดรำคาญ) เอ้า เอาก็ได้ ขอบใจนะ แก้วตาจะฟังพี่มั๊ย
แก้วตา: ฟัง
กลอยใจ: ฟังดี ๆ นะ พี่กับชนินทร์จะแต่งงานกัน แล้วเราก็จะบินไปญี่ปุ่น...
แก้วตา: ครูเวศน์ว่าเครื่องบินบินสูงกว่านก
กลอยใจ: ไปฮันนีมูนกัน...
แก้วตา: (สนใจ) ไปฮันนีมูน ไปทำยังไง
กลอยใจ: ก็...เฮ้อ...แก้วตารู้มั้ยวันนี้ชนินทร์เค้าทำยังไง คุยๆ อยู่เค้าก็จับมือพี่ไปกุมไว้ แล้วเค้าก็กระซิบว่าเราจะแต่งงานกันเดือนหน้านะกลอย
แก้วตา: (สนใจมาก) แล้วเค้าทำยังไงอีก
กลอยใจ: (มองน้อง ไม่แน่ใจว่าจะเล่าต่อดีหรือไม่ พูดเสียงเบา) เขากอดพี่แล้วจูบพี่สองที แล้วกระซิบว่าเราจะมีลูกกันสองคนนะจ๊ะ
แก้วตา: จูบทีก็จะมีลูกทีหรือ
กลอยใจ: (ไม่ฟัง) แต่งงานแล้วพี่จะไปอยู่กับชนินทร์ พี่จะไปจากบ้านนี้เสียที
แก้วตา: บินไปหรือคะ (กลอยใจเพลินกับความคิดของตัวเอง จนไม่ได้ยิน) พี่กลอย
กลอยใจ: อะไรจ๊ะ
แก้วตา: บ้านครูเวศน์อยู่ทางพระอาทิตย์ขึ้น ท้องฟ้าบ้านครูกว้าง มองขึ้นไปเห็นนกบิน
กลอยใจ: (หัวเราะ) แหม ครูเวศน์นี่ช่างบรรยายชะมัด พี่ขึ้นข้างบนนะ
แก้วตานั่งที่เปียโน พูดกับกลอยใจซึ่งกำลังเดินฮัมเพลงออกไป
แก้วตา: (พูดกับเปียโน) แก้วตาอยากไปอยู่บ้านครูเวศน์ (นิ่งคิดแล้วพูดอย่างมั่นใจ) ครูเวศน์รักแก้วตา
เริ่มเล่นเพลงทำนอง'พ่อขา'แต่ไม่เศร้าเหมือนก่อนๆ เพลงค่อยๆ แปลงเป็นหวานสดใส ช้าบ้างเร็วบ้าง หยุดบ้างเหมือนคนเล่นกำลังเล่นไปแต่งไป ทิพยาเข้ามายืนฟังจนจบ
ทิพยา: เพราะจัง เพลงอะไรจ๊ะ
แก้วตา: เพลงท้องฟ้า
ทิพยา: ทำไมไม่ชื่อเพลงวันนี้เหมือนเพลงอื่น ๆ ของแก้วตาล่ะ
แก้วตา: (พยายามคิด) ไม่ทราบค่ะ บ้านครูเวศน์ท้องฟ้ากว้างอยู่ทางพระอาทิตย์ขึ้น มองขึ้นไปเห็นนกบิน
ทิพยา: (พยายามเบนความคิด) โรงเรียนปิดเทอมคราวนี้เราจะไปอยู่ที่แพร่ ที่นั่นนกเยอะ จำได้มั๊ย แก้วตาเคยเอาตัวปีกหักมาพยาบาลจนมันบินได้
แก้วตา: (หัวเราะ สบายใจ) ใช่ แก้วตาก็บอกให้มันบินไป ระวังอย่าปีกหัก ตกลงมาอีก มันบินขึ้นไปหาก้อนเมฆ ไปหาคุณยายนั่งรถไฟไปใช่ไหมคะ
ทิพยา: ใช่จ้ะ ก็อย่างที่เราเคยไปทุกๆ ครั้งนั่นแหละ
แก้วตา: แก้วตาอยากนั่งรถไฟไปถึงพระอาทิตย์ตรงที่ท้องฟ้าแตะกับดินน่ะค่ะ
ทิพยา: ตรงที่เรามองเห็นเหมือนกับว่าท้องฟ้าแตะดินน่ะ เรียกว่าขอบฟ้า
แก้วตา: นั่นแหละค่ะ แก้วตาอยากชวนแม่นั่งรถไฟไปที่ขอบฟ้า ตรงที่พระอาทิตย์ขึ้น อยากชวนพ่อด้วย ยายด้วย แล้วก็ปิ่น พี่กลอย พี่ชนินทร์
ทิพยา: รถไฟไปไม่ถึงขอบฟ้าหรอกจ้ะ ไม่มีใครไปถึงหรอก เราแค่มองเห็นขอบฟ้า มองไปไกลมากๆ ก็เห็นเหมือนฟ้าแตะกับดิน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แก้วตาเข้าใจไหมจ๊ะ
แก้วตา: ครูเวศน์บอกว่ามีรถไฟไปที่นั่น พระอาทิตย์ขึ้นที่ขอบฟ้าตรงบ้านครูเวศน์ค่ะ ครูเวศน์นั่งรถไฟไปเวลาปิดเทอม
ทิพยา: ลูกคงฟังครูผิดมังจ้ะ
แก้วตา: ครูเวศน์บอกอย่างนั้นจริงๆ แล้วครูก็บอกว่าเครื่องบิน บินได้สูงกว่านก แต่แก้วตาว่าเครื่องบินมันดัง บินอย่างนกดีกว่า นกมันคงชอบฟังเสียงท้องฟ้า
ทิพยา: แก้วตาชอบครูเวศน์มากรึจ๊ะ
แก้วตา: แก้วตาชอบคุยกับครูเวศน์ เรื่องต้นไม้ เรื่องน้ำ เรื่องบ้านครู คุยกันเหมือนพี่ชนินทร์คุยกับพี่กลอย พี่กลอยยังเล่าให้แก้วตาฟัง
ทิพยา: (นิ่งอึ้ง) แก้วตาชอบครูเวศน์มากรึจ๊ะ
แก้วตา: (เต็มที่) ชอบมากค่ะ (นั่งคิด) แม่คะ
ทิพยา: (ระมัดระวัง) อะไรจ๊ะ แก้วตาจะถามอะไร
แก้วตา:(แต้มฝันของตัวเอง ไม่มีจริต) ผู้ชายจับมือผู้หญิงแปลว่าเค้าอยากแต่งงานด้วย ใช่มั้ยคะ
ทิพยา: แก้วตาถามทำไม
แก้วตา: ใช่มั้ยคะ
ทิพยา: (ระวังคำตอบ) ก็ไม่เสมอไปหรอกจ้ะ แล้วแต่ว่าเขาจะจับมืออย่างไง
แก้วตา: แล้วถ้าเขาเอามือไปจูบทีนึง ก็จะมีลูกคนนึง สองทีก็สองคนใช่มั้ยคะ
ทิพยา: (ไม่สบายใจขึ้นเรื่อยๆ ) ไม่มีหรอกจ้ะ แก้วตายังไม่เข้าใจ แต่แก้วตาต้องบอกแม่ว่าถามทำไม
แก้วตา: ก็แก้วอยากรู้
ทิพยา: (จับมือแก้วตาทั้ง 2 ข้างยึดไว้ มองหน้าถาม) มีใครทำอย่างนั้นกับแก้วตาหรือ
แก้วตาถอยลึกเข้าไปในความฝันของตน
แก้วตา: มีค่ะ ครูเวศน์ไงคะ
ทิพยาปล่อยแก้วตา แก้วตานั่งลงเล่นเพลงท้องฟ้า โปร่งใสเหมือนฝันที่งดงามกว่าครั้งใดๆ ไฟดับมืดทั้งเวที
เกือบทันทีที่แก้วตาเริ่มเล่นเปียโน และสว่างขึ้นที่มุมหนึ่งของเวทีให้เห็นว่าเป็นครัว ปิ่นกำลังตีไข่ ทิพยาเดินเข้ามา เสียงเพลงค่อยลงเล็กน้อยเหมือนได้ยินจากห้องถัดไป
ทิพยา: ปิ่น (ยกมือให้ปิ่นหยุดตีไข่) ปิ่น ฟังซิ แก้วตาไม่เคยเล่นดีอย่างนี้มาก่อน
ปิ่น: (ชื่นชม) เพลงเพราะจัง คนสวยของปิ่น ทั้งสวยทั้งเก่งขึ้นทุกวัน (มองหน้าทิพยา) คุณทิพเป็นอะไรไปคะ จะเป็นลมหรือ
ทิพยา: เปล่า ไม่เป็นไร เพลงนี้มันดีเกินไป
ปิ่น: อ้าวก็ดีน่ะซิคะ
ทิพยา: มันกลายมาจากเพลง 'พ่อขา' ฉันตั้งชื่อเองแหละ เพลงที่แก้วตาเล่นเวลาพ่อเค้ารำคาญแก หรือทำให้แกเสียใจน่ะ
ปิ่น: อ้าว
ทิพยา: มันกลายมาเป็นเพลงนี้ เพลงท้องฟ้า แก้วตาเขาตั้งชื่อ ฟังดูซิมันหวานโปร่งใส (หยุดฟัง ครุ่นคิด) ฉันไม่สบายใจ มันดีเกินไป (เพลงจบ ทิพยาตัดสินใจ) ปิ่นฉันจะนัดให้คุณกฤชมาคุยกับฉันที่นี่สายๆ วันเสาร์
ฉากที่ 9

บ้านพิภพ
(เวทีว่าง)
เสียงปิ่น (นอกเวที) : อ้าว ได้ตัวโต้งกลับมาแล้วหรือคะนี่ โล่งอกไปทีพ่อคุณ
เสียงป้อม (นอกเวที): ตำรวจเค้าเรียกไปรับที่โรงพักตั้งแต่เมื่อวาน อาจารย์ทิพยาอยู่ไหม
เสียงปิ่น (นอกเวที): ออกไปธุระ เดี๋ยวก็กลับค่ะ นัดครูของแก้วตาให้มาพบ 4 โมงเช้า
เสียงป้อม (นอกเวที): เมื่อคืนฉันโทร.ถึงอาจารย์แล้วว่าจะขอเอาโต้งมาฝากสักครึ่งวัน บ่ายๆ จะมารับ ที่บ้านไม่มีใครอยู่เดี๋ยวจะหายไปอีก
แก้วตาเข้ามานั่งที่เปียโน ขณะที่เสียงโต้ตอบดังลอดเข้ามา
เสียงปิ่น (นอกเวที): ตำรวจเขาไปเจอที่ไหนล่ะคะ
เสียงป้อม (นอกเวที): นั่งอยู่กลางตลาด เสื้อแสงหาย ใครถอดเอาไปก็ไม่รู้ มอมเชียว
เสียงปิ่น: กลับบ้านต้องอาบน้ำกันซะใหญ่ซิคะ
เสียงป้อม: นั่นน่ะซิปิ่น ฉันต้องรีบไป เค้าไม่ทำเปียกหรอก เดี๋ยวถ้าปวดจะโวยวายให้รู้
แก้วตา: (เดินออกจะไปหาปิ่น) ปิ่นจ๋า ใครมาหา
ปิ่นครึ่งลากครึ่งจูงโต้งสวนเข้ามา โต้งวัยสามสิบสี่ ปัญญาพิการอย่างหนัก ดูซีดขาว นุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อเรียบร้อย
ปิ่น: นี่ไง โต้ง ที่คุณพ่อคุณแม่พูดถึงบ่อย ๆ ไง
แก้วตา: (มองโต้งเหมือนโต้งเป็นคนปกติ) ก็น้องน้าป้อม ใช่ไหมคะ
ปิ่น: ใช่จ้ะ
จับโต้งนั่ง โต้งเริ่มโยกตัวไม่หยุด
แก้วตา: (ไหว้) สวัสดีค่ะ (ถามปิ่น) น้าโต้งปัญญาอ่อน เอ๊ย พิการเหมือนแก้วตาใช่ไหม
ปิ่น: โอ๊ย ไม่เหมือนกัน แก้วตาเก่งออก คนนี้พูดยังไม่รู้เรื่องเลย
แก้วตา: แก้วตาจะคุยกับน้าโต้งเอง น้าโต้งปัญญาพิการเหมือนแก้วตา (ออกเสียงคำว่าปัญญาพิการอย่างระมัดระวัง เพราะท่องจำไว้โดยไม่เข้าใจความหมาย)
ปิ่น: ดีแล้ว ปิ่นจะขึ้นไปกวาดบ้านกวาดช่อง ถ้าเค้าโวยวายล่ะก็รีบเรียกปิ่นนะ ตะโกนเลย
แก้วตา: ถ้าเค้าปวดท้องฉี่ หรือท้องอึ ให้แก้วตาเรียกใช่ไหม
ปิ่น: เอ๊ะ เดี๋ยวนี้เก่งจริง
แก้วตา: ปิ่น เอาน้ำเย็นมาให้ได้ไหมจ๊ะ แก้วตาจะได้อยู่เป็นเพื่อนน้าโต้ง
ปิ่น: (เอ็นดู) เจ้าค่ะ เดี๋ยวจะเอามาให้
ปิ่นออกไป
แก้วตา: แก้วตาอยู่เป็นเพื่อนน้าโต้งนะ (คุยพลางหยิบหมอนให้โต้งพิง) นั่งอย่างงี้จะได้สบาย น้าโต้งอยู่บ้านทุกวันเหงาไหมคะ เวลาเหงาแก้วตาเล่นเปียโน แล้วก็ดูรูปในหนังสือ
ปิ่นเอาน้ำเย็นมาวางให้ มองแก้วตาอย่างเอ็นดู แล้วออกไป
แก้วตา: น้าโต้งทานน้ำนะคะ (ส่งแก้วน้ำให้ โต้งยังโยกตัวแต่น้อยลง) ไม่ทานหรือ (มองโต้ง ดูว่าจะตอบหรือไม่ โต้งโยกตัวน้อยลง ๆ ไปอีก) เอ้างั้นแก้วตาช่วย (แก้วตาจะป้อนน้ำโต้ง แก้วตาหยิบผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋ากระโปรงออกมาเช็ดน้ำกับน้ำลายบริเวณปากโต้ง โต้งหยุดโยกตัวมองแก้วตาเป็นครั้งแรก แก้วตายิ้มให้ ) แต่ก็ไม่ค่อยเหงาหรอก เพราะไปโรงเรียน พออยู่บ้านแก้วตาก็คิดถึงพ่อ พ่อแข็งแรง ครูเวศน์ก็แข็งแรง เมื่อวานครูเวศน์ยังยกกล่องงานให้แก้วตา (เริ่มฝัน) มือครูเวศน์ใหญ่นะ แล้วก็สีเหมือนเข็มขัดที่พ่อเคยซื้อให้
แก้วตานิ่งคิดถึงกฤช แล้วนึกถึงโต้งก็ลุกขึ้นไปพลิกหาหนังสือ
แก้วตา: พ่อชอบซื้อหนังสือรูปภาพให้แก้วตาดู น้าโต้งคงชอบ
ขณะแก้วตาเลือกหนังสือ โต้งกระโดดขึ้นส่งเสียง เต้น สลัดตัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แก้วตาวิ่งมาดู
แก้วตา: ปวดท้องฉี่หรือคะ อ๋อ แมลงสาบ แมลงสาบตัวนิดเดียว มันไปแล้วค่ะ มันไปแล้ว(ดึงโต้งให้นั่ง โต้งโยกตัวอย่างแรง แก้วตาโอบโต้ง เอาแขนพาดไหล่ โยกตามอย่างปลอบโยน โต้งโยกตัวน้อยลงๆ จนหยุด โต้งค่อยๆ เอนหัวพิงไหล่แก้วตา แก้วตาเอียงหน้าแนบหัวโต้ง ทั้งคู่นิ่งเหมือนแม่กับลูกได้ความอบอุ่นจากกันและกัน)
เสียงปิ่น (นอกเวที): เชิญข้างในก่อนนะคะ คุณทิพออกไปธุระยังไม่กลับ แก้วตาอยู่ค่ะ
กฤชเข้ามาหยุดมองแก้วตากับโต้ง ยืนนิ่งนาน นานด้วยความรู้สึกที่ตัวเองก็เข้าใจไม่ได้
กฤช: แก้วตา ทำอะไรจ๊ะ
แก้วตาหันมอง แปลกใจ ดีใจ แต่ยังนั่งอยู่ โต้งนิ่งอยู่ในท่าเดิมเหมือนไม่มีใครเข้ามา
แก้วตา: แก้วตากำลังปลอบน้าโต้งค่ะ
กฤช: (หวง แต่ระมัดระวัง) ครูว่าอย่าไป...เอ้อ...
แก้วตาคลายมือจากโต้ง
แก้วตา: ครูมาหาแก้วตาหรือคะ
กฤช: แก้วตาชอบไหมล่ะที่ครูมา
แก้วตา: (แทบกลั้นหายใจ) แก้วตาชอบ ครูมาบ่อยๆ ได้มั้ยคะ แก้วตาอยากให้ครูมาทุกวัน
กฤช: (หัวเราะ) มาทุกวันไม่ได้หรอก
แก้วตา: แต่แก้วตาอยากให้มาทุกวัน...นี่น้าโต้งค่ะ (กับโต้ง) น้าโต้งหายกลัวแล้วใช่มั้ย (จัดโต้งให้นั่งคนเดียว) นั่งเองได้นะคะ แมลงสาบตัวนิดเดียว (กับกฤช) น้าโต้งกลัวแมลงสาบ แก้วตาจะไปเอาน้ำเย็นมาให้ครู (แก้วตาจะออกไป ปิ่นถือน้ำเข้ามา)อ้าว ปิ่นเอามาพอดี (รับเอามาวางให้กฤช ปิ่นออกไป กฤชก้มทักโต้ง)
กฤช: เป็นไงโต้ง ครูไม่เคยรู้ว่าแก้วตามีน้า เป็นน้องคุณแม่หรือ
แก้วตา: ไม่ใช่คะ แม่เป็นพี่น้าป้อม พี่ปลอมไม่ใช่พี่จริง
กฤช: (เอ็นดู) อ้อ ก็เป็นน้าปลอมนะซี
แก้วตา: น้าโต้งกลัวแมงสาบจังค่ะครู ตัวสั่นไปหมด แก้วตาก็เลยปลอบเค้าเหมือนพ่อเคยปลอบแก้วตา พอพ่อกอดแก้วตาไว้ อะไรๆ มันก็ไม่น่ากลัว บางทีแก้วตาก็อยากให้ใครมากอด อย่างพี่ชนินทร์กอดพี่กลอย
กฤชหวั่นไหว มองแก้วตาด้วยความรู้สึกของผู้ชาย
กฤช: แก้วตาอย่ากอดเขาอย่างนั้นอีกนะจ้ะ
แก้วตา: ทำไมต้องไม่กอดน้าโต้งคะ
กฤช: เพราะ เอ้อ...เพราะมันไม่เหมาะสม
ทิพยาเข้ามา ทันฟังช่วงสุดท้ายของแก้วตากับกฤช
แก้วตา: ครูจะมาคุยกับคุณแม่เรื่องแก้วตาหรือคะ
กฤช: ใช่ คุณแม่ให้มาคุยเรื่องแก้วตา
แก้วตา: (ตื่นเต้นมีความสุข) ก็เหมือนอย่างพี่ชนินทร์มาคุยกับคุณพ่อคุณแม่เรื่องพี่กลอย
กฤช: เพิ่งมาถึงครับ เอ้อ...ออกจากบ้านเร็วไปหน่อย กลัวรถติด
ทิพยา: แก้วตาดีใจซิ ได้คุยกับครูเวศน์
แก้วตา: ดีใจค่ะ ครูจะฟังเพลงท้องฟ้ามั้ยคะ เพลงท้องฟ้าเหมือนบ้านครู
กฤช: (สนใจ ลืมตัว) เหมือนยังไงจ๊ะแก้วตา
ทิพยา: ยังจ้ะ ครูมาคุยธุระกับแม่ แม่กับครูคุยกันเสร็จ แก้วตาค่อยเล่น
ปิ่นเข้ามา
ทิพยา: ปิ่นพาแก้วตากับโต้งขึ้นไปข้างบนนะ ปิ่นอยู่ด้วยนะอย่าไปไหน ห้องคุณแก้วตาก็ได้ แล้วปิดประตูเสีย ฉันเรียกค่อยลงมา
ปิ่น: มาโต้ง มา (จูงโต้ง) เอาแก้วตา มาซิ
แก้วตา:แต่แก้วตาอยากจะอยู่ด้วย
ปิ่น: เอ้า เร็ว ๆ
แก้วตา: (ยืนยัน) แต่แก้วตาอยากเล่นเพลงท้องฟ้าให้ครูฟัง ได้ไหมคะ
ทิพยา: ขึ้นไปจ้ะ เดี๋ยวแม่จะเรียกให้ลงมาเล่นให้ครูฟัง
แก้วตาตามปิ่นกับโต้งออกไป
ทิพยา: เชิญนั่งซิคะ(กฤชนั่ง รอฟัง) คงยังไม่เคยมีผู้ปกครองเชิญครูไปปรึกษาถึงบ้าน
กฤช: ยังครับ ก็มีที่ให้สอนปั้นกับวาด
ทิพยา: แก้วตาชื่นชมครูมาก ดิฉันก็เลยเชิญมาคุยที่นี่ จะได้เห็นว่าบ้านเราอยู่กันยังไง
กฤช: ครับบ้านน่าอยู่
ทิพยา: บ้านเหงาค่ะ (ทิ้งจังหวะ กฤชนิ่งคอยให้พูดต่อ) พ่อแก้วตาไปทำงานภูเก็ต เดือนจะกลับสักครั้ง
กฤช: ครับแก้วตาบอกผม ดูแกจะติดคุณพ่อมากนะครับ เมื่อแรกๆ ที่ท่านไป แกพูดถึงซ้ำ ๆ เกือบทั้งวัน
ทิพยา: ตอนนี้ล่ะคะ
กฤช: น้อยลงมากครับ ช่วงนั้นซึม แต่เดี๋ยวนี้สดใส ช่างคุย (หัวเราะ สุขใจ เมื่อนึกถึงแก้วตา) สนใจไปเสียทุกอย่าง
ทิพยา: งั้นหรือคะ
กฤช: (คิด) ผมว่างั้นนะครับ หลังๆ นี่ดีมากทุกด้าน แกกลับร่าเริง เมื่อวานก็เด็ดดอกไม้มาปักแจกัน มาวางที่โต๊ะทำงานผม
ทิพยา: ครูช่วยแกได้มาก มากกว่าครูอื่น ๆ
กฤช: (หัวเราะ) ขอบคุณครับ คงจะเป็นเพราะผมสนใจแก แก้วตาเป็นคนน่ารัก
ทิพยา: (ทิ้งจังหวะ) น่ารักหรือคะ
กฤช: ครับ เอ้อ...(ปรับเป็นเสียงวิชาการ) พัฒนาการแกน่าสนใจ
ทิพยา: (พูดต่อให้) เป็นพิเศษ
กฤช: ครับ แกช่างคิด คำพูดแกบางครั้งทำให้ผมต้องไปคิดต่ออีกหลายวัน
ทิพยา: ดิฉันดีใจที่ครู...ชอบแก...มาก แกแต่งเพลงด้วยนะคะ เพลงท้องฟ้า แกว่าเหมือนบ้านครู
กฤช: (หัวเราะ พอใจ) เหมือนยังไงครับ
ทิพยา: ครูบอกแกไม่ใช่หรือคะว่าที่บ้านครูท้องฟ้ากว้าง มองขึ้นไปเห็นนกบินสูงลิบ
กฤช: (หวั่นไหวจนทิพยาสังเกตเห็น) แล้วแกมาแปลงเป็นเพลง น่าเสียดายนะครับ แกคงเป็นคนที่มีอะไรๆ พิเศษทีเดียวถ้าแกไม่...
ทิพยา: (หวนนึกถึงพิภพ ขมขื่น) ไม่ปัญญาอ่อนเพราะแม่แกหลงงานจนทิ้งลูกให้ชัก
กฤช: ผมไม่ได้ตั้งใจจะพูดอย่างนั้น
ทิพยา: (ได้สติ) ช่างเถอะค่ะ (เดินไปมองออกนอกหน้าต่าง) ฝนทำท่าจะตกอีกเสียแล้ว (ทิ้งจังหวะ เลือกหาคำพูด) แก้วตาชวนดิฉันขึ้นรถไฟไปบ้านครู บ้านครูอยู่จังหวัดไหนคะ
กฤช: อุบลครับ
ทิพยา: จะให้ไปไหมคะ
กฤช: ก็ดีซิครับ ถ้าสบายก็เชิญอยู่นานๆ เลยครับ แต่อีสานไม่เห็นค่อยมีใครอยากไปพักนานๆ
ทิพยา: อยู่นานๆ จะไม่รำคาญแก้วตาหรือคะ
กฤช: โอ๊ยไม่หรอกครับ ผมไม่เคยรำคาญแกเลย เชิญซิครับปิดเทอมนี้
ทิพยา: ขอบคุณค่ะ (ทิ้งจังหวะ) จิตแพทย์แนะนำให้แกทำหมันมานานแล้ว...ครูคิดว่าแก้วตาน่าจะมีโอกาสมีครอบครัวเหมือนผู้หญิงปกติไหมคะ หรือว่าถึงเวลาที่ควรจะเอาแกไปทำหมันเสียที
กฤช: (เข้าหาวิชาการ) ตามทฤษฎีคนปัญญาพิการที่ช่วยตัวเองได้ในระดับนี้ ก็มีสิทธิที่จะมีครอบครัว
ทิพยา: ดิฉันดีใจที่เราคิดตรงกัน
กฤช: มันขึ้นกับอาจารย์มากนะครับ ในฐานะแม่ อาจารย์คิดว่าแกพร้อมไหมล่ะครับที่จะรับผิดชอบหน้าที่ภรรยา
ทิพยา: หน้าที่ภรรยา...มีขอบข่ายแค่ไหนคะ ครูว่าใครคะเป็นคนกำหนด แก้วตารักได้ เจ็บปวด เสียใจได้ พูดถึงรัก แก้วตารักได้มากกว่าคนปัญญาดี ที่รู้แต่จะเอาตัวรอดเสียอีกจริงไหมคะ
กฤช: ครับ
ทิพยา: ครูคิดว่าแกน่าจะใช้ชีวิตแต่งงานได้ไหมคะ
กฤช: ก็น่าจะได้นะครับ (พูดไปคิดไป ยังรู้สึกถึงความหวั่นไหวที่ตนรู้สึกกับแก้วตา) แต่มันสำคัญที่ตัวคนที่จะ...
ทิพยา: (เกิดความหวัง) ค่ะ ว่าจะเข้าใจแกแค่ไหน ใครนะที่ว่าครูกับแก้วตาคุยกันได้ทีละนานๆ
กฤช: (รู้สึกสับสน) ครับผมคุยกับแกได้ ในฐานะครูผมก็ต้องเข้าใจ...
ทิพยา: ใช่ค่ะ ครูเข้าใจแกดีมากกว่าใคร แกถึงได้ติด แม้กระทั่งเรื่องที่ครูพูด แกก็มาคิดเป็นเพลง แก้วตาเป็นคนที่มีแต่จะรัก แกไม่รู้จักเกลียดค่ะ...ครูว่ายังไงนะคะ
กฤช: ผม...ผม...ไม่ได้ว่ายังไง...ก็จริงนะครับที่อาจารย์พูด แก้วตาไม่รู้จักเกลียด
ทิพยา: ค่ะ ปิดเทอมนี้ฉันจะพาแก้วตาไปกราบคุณพ่อ คุณแม่ครู ให้ท่านรู้จักแก
กฤช: (งง ๆ ) ไปหาพ่อแม่ผมหรือครับ...เอ้อ...ท่านคงชอบแกมากเชียวครับ
ทิพยา: ก็ดีซิคะ ผู้ใหญ่น้อยคนนะคะจะทำใจรับสะใภ้ปัญญาพิการได้
กฤช: (งงมาก) ครับ น้อยคน เอ้อ...อาจารย์พูดถึงใครนะครับ
ทิพยา: อ้าว ก็ครูพูดถึงคุณพ่อคุณแม่ครู
กฤช: ว่ายังไงนะครับ
ทิพยา: ว่าท่านจะชอบแก้วตา ท่านต้องจิตใจดีมากเชียวที่ไม่รังเกียจที่จะมีสะใภ้ปัญญาพิการ
กฤช: เอ้อ อาจารย์คงเข้าใจผมผิดแล้วล่ะครับ อาจารย์...คง...ไม่ได้เข้าใจว่าผมจะแต่งงานกับแก้วตานะครับ
ทิพยา: (ไม่เชื่อหูตัวเอง) อะไรนะ ฉันนึกว่าครูจริงใจ
กฤช: ผมจริงใจครับ แต่ก็ไม่เคยคิดจะแต่งงานกับแก
ทิพยา: แต่...แต่ทำไมครูทำกับแกอย่างนั้น
กฤช: (งง) ผม...ผมทำอะไรกับแก้วตานะครับ อาจารย์ฟังอะไรมาครับ
ทิพยา: ก็ครูทำอะไรล่ะ แกล้งทำเป็นไม่รู้ได้ถึงอย่างนี้เชียวหรือ
กฤชเดินไปมาพยายามเข้าใจ ทิพยามองตามอย่างไม่ละสายตา
กฤช: เดี๋ยวก่อนครับ ใครมาเล่าอะไรให้อาจารย์ฟัง
ทิพยา: ก็แก้วตาน่ะซี
กฤช: แก้วตา...แกเล่าว่ายังไงครับ
ทิพยา: ครูนึกไม่ออกเชียวรึคะว่าครูทำอะไรกับแกไว้
กฤช: ทำอะไร ผมมีแต่ช่วยแกตลอดมา
ทิพยา: แล้วแกล่ะคะ แกไม่ได้ช่วยอาจารย์หรอกหรือ
กฤช: ช่วยผม ช่วยอะไรครับ ผมทุ่มเทให้แก...อาจารย์ก็ทราบว่าผม...
ทิพยา: เทวดา หรือนักบุญที่เสียสละอะไรมิอะไรเพื่อช่วยเด็กปัญญาอ่อนที่น่าสงสาร (แก้วตาเดินเข้ามา สดใส เต็มไปด้วยความหวัง หยุดยืนมองจากริมเวที) เอาล่ะค่ะ แกบอกฉันว่าครูจับมือ จูบมือแก ครูทำอะไรกับแกอีก ใครจะรู้ในเมื่อแกเห็นครูเป็นเทวดา
กฤช: โอ๊ย ไปกันใหญ่ (พยายามข่มอารมณ์ พูดอย่างมีสติ) อาจารย์ก็รู้เรื่องแฟนตาซี แก้วตาแกแยกความคิดฝันกับความเป็นจริงไม่ออก
ทิพยา: (เริ่มควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้) ครูจะพูดยังไงก็ได้ ก็รู้กันอยู่ว่าแก้วตาแกไม่มีปัญญาจะเถียง
กฤช: ถ้างั้นผมก็ไม่มีอะไรจะพูด ลาละครับ
แก้วตาผวาจะตามกฤช แต่มาหยุดเกาะเปียโนเหมือนเป็นเพื่อนทั้งกายและใจ
ทิพยา: (พยายามใช้เหตุแล แต่ยิ่งพูดยิ่งหลุดเข้าไปในอารมณ์ที่ขาดเหตุผล ดุเดือดเหมือนสัตว์ที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องลูกจากอันตราย) เดี๋ยวค่ะ เราต้องพูดกันให้รู้เรื่อง ทำไมฉันจะไม่เห็นว่าครูชอบแก้วตามาก แก้วตาอาจจะเป็นคู่คิดไม่ได้ แต่แกทำให้ครูมีความสุขได้ แกใจสะอาด มีน้ำใจ ไอคิวแกก็เกือบ borderline ดูเผินๆ ใครจะรู้ อยู่กับครูแกจะดีขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างพอพ่อแกไป แกก็หันมาทุ่มจิตใจให้ครู ครูทำให้แกหลง
ทั้งๆ ที่รู้ว่าแกเป็นยังไง ครูต้องรับผิดชอบ
กฤช: เอ๊ะ ทำไมมันจะมากลายเป็นเรื่องให้ผมต้องรับผิดชอบ ผมเป็นคนธรรมดาสามัญครับ ถ้าจะแต่งงานก็จะแต่งงานกับผู้หญิงที่เข้าใจผม ที่พูดกันรู้เรื่อง ลาละครับอาจารย์
ทิพยา: เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน (ท่าทาง เหมือนคนขาดสติ) แล้วฉันจะทำยังไงกับแก้วตา แกจะต้อง...ถ้าครูแต่งงานกับแก้วตา แล้วมีปัญหาอะไร ฉันจะช่วยทุกอย่าง
กฤช: อาจารย์อยู่กับความเป็นจริงหน่อยซิครับ มันจะเป็นไปได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้ครับ
ทิพยา: ผู้ชายอย่างคุณน่ะเป็นอันตรายกับเด็กสาว ๆ ทั้งโรงเรียนนั่นแหละ ฉันจะไปพูดกับผู้อำนวยการ
กฤช: ไม่ต้องลำบากหรอกครับ ผมจะแก้ปัญหาให้ ผมจะขอย้ายเอง อาจารย์สบายใจได้ แก้วตาจะไม่พบผมอีก ผมแต่งงานกับคนปัญญาอ่อนไม่ได้หรอกครับ
กฤชเดินออกจากเวที แก้วตาค่อย ๆ ทรุดลงที่เปียโน ซบหน้า โยกตัว สองมือตีบนคีย์บอร์ด เสียงความวินาศแตกสลาย
ทิพยาวิ่งไปหา
ทิพยา: (กรี๊ดร้อง) แก้วตา...
ไฟดับมืดสนิท ขณะเสียงเปียโนยังดังเสียดแทงความรู้สึก
ไฟสว่างเป็นกรอบครึ่งตัวที่ทิพยาเหมือนครั้งก่อน
ทิพยา: ฉันจะทำยังไง มีใครไหมที่จะช่วยฉันกับแก้วตา...แก้วตาจ๊ะ ขอบฟ้าไม่มีจริงหรอกลูก มันเป็นแค่ภาพลวงตา มองไกลๆ เท่านั้นแหละถึงจะเห็นเป็นขอบฟ้า (มองไกลเหมือนอยากเอื้อมไปให้ถึงขอบฟ้า นิ่งนาน ทรุดตัวลงร้องไห้)
เสียงทุบคีย์บอร์ดเปียโนดังขึ้น แล้วเงียบไป ค่อยกลายเป็นทำนองใหม่ ที่หลุดออกทีละโน้ต ทิพยายืนขึ้น ไฟสว่างขึ้นที่แก้วตานั่งเล่นเปียโนด้วยมือขวา กระท่อนกระแท่นเหมือนกำลังหัดเดิน
ทิพยา (พูดเบา ๆ ขณะก้าวไปหาแก้วตา) ไม่มีสิ้นสุด
ไฟดับ
เพลงของแก้วตากลายเป็นเพลงที่บอกถึงความหวังกระหึ่มดังในความมืด

คุณหญิงจำนงศรีมีผลงานบทละคร 2 เรื่องด้วยกันคือ สิ้นแสงตะวัน ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่น จากมูลนิธิ John A. Eakin และบทละครเรื่อง ขอบฟ้าของแก้วตา ซึ่งพิมพ์รวมเล่มอยู่ในหนังสือ 5 บทละครเวทีไทย
คุณหญิงเล่าถึงการเขียนบทละครว่า
“ทำไมถึงได้เขียนบทละคร...ก็ไม่รู้เหมือนกันและไม่เคยเขียนบทละครมาก่อน แต่ชอบดูละครมาก ตอนอยู่ที่อังกฤษก็ชอบดูละคร ก็เลยลองเขียนขึ้นมา แล้วส่งเข้าไปประกวด คือผลที่ได้เป็นบทละครเพื่ออ่าน มากกว่าเป็นบทละครเพื่อแสดง เพราะว่าเราไม่ได้ถูกเทรนมา เพราะฉะนั้นเราเขียนเหมือนเป็นบทสนทนาที่มันเป็นไปเป็นฉากๆ ชื่อเรื่อง สิ้นแสงตะวัน
ถ้าเอามาอ่านวันนี้คงไม่มีใครชื่นชม แต่สำหรับวันนั้นมันอาจจะเป็นอะไรที่อาจจะแปลกใหม่หน่อย เพราะว่ามันเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเอกที่เป็นนักคิด นักพัฒนาสังคม แล้วก็ใจกว้างในเรื่องเพศ พูดถึงสำหรับในยุคนั้น แล้วเหตุการณ์ก็เกิดเมื่อพบว่าเมื่อภรรยาหรือคู่หมั้นเขาเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นมาก่อน จากนั้น อาการทุกอย่างของเขาที่เรื่องมันเกิดขึ้นกับตัวเอง กับเวลาที่เขาเป็นนักพัฒนา เวลาที่เขาเป็นผู้มีปัญญาทางสังคม นักวิชาการ มันคนละคนกันไปเลย
คำว่าสิ้นแสงตะวัน ก็เหมือนสิ้นแสงตะวันของนางเอก คือเธอรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายในฝันที่เข้าใจทุกอย่าง เป็นคนที่ใจกว้าง แต่พอมาถึงจุดที่เป็นผู้หญิงของตัวเอง กลับรับไม่ได้สักอย่าง
สมัยนี้เรื่องความบริสุทธิ์ของผู้หญิงมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย ก็เลยเอาเรื่องนั้นมาเขียนบทละครขึ้นมา แล้วก็ได้รางวัล แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัลนะ คิดว่าที่ได้รางวัลน่าเป็นเพราะตัวเรื่องราวมากกว่าเป็นเพราะทางเทคนิคการเขียนบทละคร เพราะว่าเราก็ไม่เคยได้เรียนมา”
ส่วนบทละครเรื่องขอบฟ้าของแก้วตา คุณหญิงเล่าว่า เกิดจาก
“ได้ไปช่วยงานในมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน ก็เลยได้เข้าใจปัญหาของเด็กปัญญาอ่อน และเรามีเพื่อน 3 คน ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม แล้วแต่ละรายที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมพ่อแม่จะฉลาดมาก แล้วก็เป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตาทีเดียว ตอนนั้นเราได้เรียนรู้จากพ่อแม่ทั้งหลายที่มีปัญหาของการมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม
มีรายหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครอบครัวนี้มีลูก 2 หรือ 3 คนไม่แน่ใจ แต่คนสุดท้องเป็นดาวน์ซินโดรม แล้วตัวแม่ท่านก็เก่งนะ เคยเป็นนักศึกษาแพทย์แต่เรียนไม่จบเพราะมีเหตุต้องไปเรียนต่อ แล้วท่านก็อุทิศตัวเองเลยว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ให้อายุทางสมองของเด็กขึ้นมาให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เดินทางไปยุโรปไปหาความรู้ต่างๆ ทุกอย่างที่จะทำได้ คืออุทิศชีวิตให้กับเด็กคนนี้เลย แล้วมันน่าสนใจในพัฒนาการของเด็ก คือเขาทำนายไว้ว่าเด็กจะมีอายุสมองแค่ 5-6 ขวบ แต่ของเด็กคนนี้มันขึ้นมาสูงกว่านั้นมากทีเดียว โดยการที่มันเพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้รู้สึกหรือคิดอะไรได้ซับซ้อนกว่า มันก็จะมีช่วงที่เธอค่อนข้างที่จะหลงรักครูที่สอน เราก็เอาเรื่องนั้นมาขยายเป็นละคร
เราก็เล่นกับเรื่องของการพัฒนาทางด้านเพศว่า ร่างกายมันโตตามอายุของร่างกาย เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความต้องการต่างๆ ผู้ชายที่สนิทที่สุดนั่นก็คือ พ่อ เราจะเห็นความรู้สึกต่อพ่อมันกำกวม เช่น ให้เข็มขัดหนังเหมือนเป็นการกอดโอบอุ้ม เราก็จะเล่นเรื่องของพัฒนาการที่สมองเธอ และพัฒนาทางกายภาพที่เป็นเรื่องของฮอร์โมนมันจะไม่สัมพันธ์กัน
แล้วก็เล่นไปถึงเรื่องของปัญหาทางครอบครัว คือการที่แม่มีความรู้สึกผิด เพราะเราวางตัวละคร โดยไม่ได้ให้เขาเป็นดาวน์ซินโดรมโดยกำเนิด เราให้เขาเป็นเด็กปกติที่เป็นไข้แล้วชักทำให้สมองเสียหาย เพราะฉะนั้นหน้าตาของเขาก็จะสวย ไม่ใช่ลักษณะของหน้าตาของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม เรื่องก็จะรวมทั้งเรื่องของความรู้สึกผิดของแม่ที่เป็นนักวิชาการ กำลังทำงานสอนอยู่ในขณะที่เด็กป่วยแล้วก็กลับมาดูแลไม่ทัน ทำให้ชักจนสมองขาดออกซิเจน เรื่องนี้ เราเล่นกับหลายอย่างทั้งพัฒนาการทางเพศ ความรู้สึกทางเพศที่มันไม่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมอง ปัญหาของแม่ที่รู้สึกผิด และมันก็ไปกระทบกับลูกสาวอีกคน กระทบกับชีวิตแต่งงาน มันก็จะเกี่ยวพันกันหลายเรื่อง
แล้วในส่วนของเด็ก เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เขาทำแล้วก็ขายได้ มีรายได้จากการทำงาน ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้ไร้ความสามารถ และครูที่ดูแลชั้นเรียนเป็นชายหนุ่ม ประกอบด้วยว่าเด็กอายุ 16 ฮอร์โมนอะไรต่ออะไรมันก็พัฒนา แล้วมามีความใกล้ชิดกับครู
เรานำเรื่องนี้เชื่อมระหว่างความเข้าใจของเด็กปัญญาอ่อนกับโลกของความเป็นจริงว่า พอเขารู้ว่ารถไฟวิ่งไปที่ไหนที่ไหนได้ เขาก็ถามครูว่าบ้านครูอยู่ที่ไหน อยู่อีสานคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สำหรับแก้วตาตะวันออกคือพระอาทิตย์ขึ้น เพราะฉะนั้นรถไฟของเขาก็อยากให้มันวิ่งไปทางทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์เช้าๆ ที่แก้วตาเห็นขึ้นระหว่างดินกับฟ้า ครูก็บอกว่า ตรงที่ตาเราเห็นฟ้ากับดินมันบรรจบกันเราเรียกว่า ขอบฟ้า เพราะฉะนั้นแก้วตาอยากให้รถไฟเขาวิ่งไปตรงขอบฟ้าตะวันออก
แม่เห็นแล้วว่าอันตราย พยายามอธิบายว่ามันไม่มีหรอกขอบฟ้า ถ้าเราเข้าไปมันก็จะถอยห่างออกเรื่อยๆ แต่แก้วตาเขาไม่เข้าใจ ครูเขาไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น แต่แม่เขารู้ ครูก็มีคู่หมั้นของเขา แล้วแก้วตาไปเห็นก็รู้สึกแตกสลายเหมือนกับว่ามันจะเกิดอาการทางจิต
ตัวแก้วตาจะเล่นดนตรีมาตลอดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนาสมอง ถ้าวันไหนที่เขาอารมณ์ดีก็จะเล่นดนตรีที่เพราะ ในช่วงที่เขา in love เพลงที่เล่นก็จะออกมาดี แต่วันที่เขาเห็นครูเขากับคู่หมั้นและรู้ว่าเขากำลังจะแต่งงานกัน เธอกลับมาที่บ้านเธอก็ทุบเปียโน คือไม่มีเพลง
เรื่องก็จบลงด้วยการถามคนดูของตัวแม่ว่า ฉันผิดด้วยหรือ ที่ฉันสามารถพาเด็กมาจนถึงวัยอายุสมอง 11-12 ปี ที่สามารถมี romantic feeling ได้ จินตนาการ อารมณ์ความรักได้ เพราะถ้าปล่อยไป อายุสมองเขาคงอยู่แค่ 6 ขวบ มันอาจจะไม่ได้มาถึงจุดแตก แต่เมื่อเธอพยายามช่วยลูกจนถึงที่สุด แล้วสามีก็ทิ้งเธอไป เธอเลยตั้งคำถามว่ามันผิดหรือถูกยังไงที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นมนุษย์ได้เต็มที่ที่สุด แล้วมันก็แตกสลายแบบนี้”
เรื่องราวตอนจบนี้จากแตกต่างจากตอนจบของบทละครในฉบับตีพิมพ์ ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนทำให้แตกต่างออกไป ในขณะที่คุณหญิงมีความตั้งใจอยากจะนำเสนอในรูปแบบดังที่เล่าให้ฟัง
Comments