top of page

ความฝันอันหลากหลาย

  • รูปภาพนักเขียน: Chamnongsri Hanchanlash
    Chamnongsri Hanchanlash
  • 19 มิ.ย. 2565
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 22 ก.ค. 2567

ของลำน้ำแม่โขง


ชิงชัย หาญเจนลักษณ์



จากบ่อน้ำเล็กๆ ที่เกิดจากหิมะละลายบนยอดเขาของทิเบต กลายเป็นสายน้ำไหลผ่าน มณฑลยูนนาน ในประเทศจีน ผ่านประเทศพม่า ลาว ไทย เขมร และเวียดนาม ลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ปากน้ำเก้ามังกรของเวียดนาม เป็นความยาวกว่า 4,000 ก.ม.


นั่นก็คือ แม่น้ำแม่โขง แม่น้ำที่ยาวเป็นสายที่ 12 ของโลก


ความเจริญตามลุ่มแม่น้ำโขงอาจจะไม่เท่าเทียมกับความเจริญตามลุ่มแม่น้ำดานูป หรือลุ่มแม่น้ำไรน์ในยุโรป


แต่แม่น้ำแม่โขง ก็มีความงามตามธรรมชาติไม่แพ้แม่น้ำทั้งสองสายในยุโรป คนที่เคยเห็นพระอาทิตย์ตกดินที่แม่น้ำโขงที่วัดพระบาทใต้เมืองหลวงพระบาง ก็คงจะทราบดีว่างดงามเพียงใด หรือน้ำตกหลี่ผี ระหว่างไทยและลาว ไม่แพ้น้ำตกไนแอการาระหว่างแคนาดาและสหรัฐมากนัก


ประเทศลุ่มแม่น้ำแม่โขงเริ่มสนใจศักยภาพทางเศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำใหญ่สายนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้รวมกลุ่มตั้ง คณะกรรมการแม่โขง (Mekong Committee) ขึ้น โดยให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการจัดตั้งเกิดขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้สนใจการพัฒนาโครงการขั้นพื้นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นอย่างมาก


องค์การสหประชาชาติและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้สี่ประเทศ คือ ลาว ไทย เขมร และเวียดนามใต้เป็นผู้ริเริ่มคณะกรรมการแม่โขง ส่วนความช่วยเหลือทางด้านงบประมาณนั้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งหันมาเห็นความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากสหภาพโซเวียตแผ่ม่านเหล็กครอบคลุมยุโรปตะวันออก


เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยหลักภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังลุกลามเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจาก เหมา เจอ ตุง ได้ยึดครองอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่และดำเนินตามรอยสหภาพโซเวียต ด้วยการแผ่ขยายวงม่านไม้ไผ่ออกเพื่อครอบคลุมภูมิภาคนี้


ประโยชน์ด้านพลังงานเป็นจุดประสงค์หลักของคณะกรรมการแม่โขง และพลังงานที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ก็คือไฟฟ้าจากแม่น้ำโขงนั่นเอง


สำนักงานคณะกรรมการนี้อยู่ในบริเวณการพลังงานแห่งชาติของไทย โดย ดร.บุญรอด บิณฑสันฑ์เลขาธิการการพลังงานแห่งชาติ เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันการดำเนินงาน


การพลังงานแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่า “superministry” เพราะควบคุมนโยบายการพัฒนาโครงการพื้นฐานทั้งหมดของชาติ คนกรุงเทพฯ หลายคนคงยังจำป้ายใหญ่สีน้ำเงิน ระบุที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการแม่โขง ที่ติดเป็นสง่าอยู่ริมสะพานกษัตริย์ศึก


เขื่อนน้ำงึมในลาว ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้ประเทศไทยได้ใช้ และนำรายได้ให้แก่ประเทศลาว ก็คือผลงานชิ้นเอกของคณะกรรมการนี้


น่าเสียดายที่สงครามเวียดนาม และกรณีพิพาทในเขมร ทำให้การดำเนินงานต้องหยุดเป็นระยะๆ แต่ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้เพราะความตั้งใจอันแน่วแน่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนปัจจุบันก็ยังดำเนินงานต่อเนื่องมา


แต่วันนี้สำนักงานคณะกรรมการแม่โขงได้ย้ายจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งมานานกว่า 40 ปี หลังจากเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Mekong River Commission (MRC) องค์กรนี้ก็ย้ายข้ามโขงไปอยู่ประเทศเขมร ณ กรุงพนมเปญ อันเป็นเมืองริมฝั่งโขงอย่างแท้จริง ต่างกับกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงหลายร้อยกิโลเมตร


วิวัฒนาการสู่ขบวนการโลกาภิวัตน์ ทำให้คนที่ผูกพันกับแม่น้ำโขงมีวิสัยทัศน์กว้างขึ้น ยังผลให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ได้มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งยังขยายไปครอบคลุมถึงประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน คือ ประเทศพม่า และมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งผมได้กล่าวถึงแล้วบทความก่อนๆ ในข้อเขียนเรื่องลุ่มแม่น้ำโขงชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Mekong Sub-Regional Economic Corporation), ศูนย์กฎหมายภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ MRLC (Mekong Regional Law Centre) และสถาบันแม่โขง (Mekong Institute)


แต่ละโครงการก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งวิธีการดำเนินงานตลอดจนถึงโครงสร้าง มาตรงกันที่จุดประสงค์หลักคือ ความต้องการที่จะส่งเสริมให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงร่วมมือกันพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เจริญ ก้าวหน้าขึ้น โดยอาศัยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่จะก่อให้เกิดจิตสำนึกในความสัมพันธ์ระหว่างกันและผลประโยชน์ในการที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน


อย่างไรก็ตาม จิตสำนึกในการเป็นเพื่อนร่วมกันพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ที่ควรจะจับมือกันพัฒนาศักยภาพ อนุภูมิภาคนี้เพื่อความอยู่ดีกินอย่างทั่วถึง กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก


ความยากลำบากมาจาก 2 ปัจจัยหลัก


ปัจจัยแรกคือ ความแตกต่างกันในระบบการเมืองของประเทศทั้งหก คือ เขมร จีน พม่า ลาว ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีทั้งระบบสังคมนิยม ระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม และระบบเผด็จการทหาร นอกจากด้านการเมืองแล้วก็ยังมีความแตกต่างกันในแนวทางการพัฒนา ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ กินอิ่ม ห่มอุ่น ถึงกินแซบ ห่มงาม และเลยไปถึงกินทิ้งกินขว้าง ห่มเกินงาม


ปัจจัยที่สอง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญกว่า ก็คือ ความคิดคำนึงถึง “ผลประโยชน์ชาติ” ก่อนเป็นหลักเป็นความคิดในลักษณะชาตินิยมที่ฝังลึกมาเป็นเวลานาน ความคิดในลักษณะนี้ มีเหตุจากความจำเป็นในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีสงครามระหว่างกันอยู่เนืองๆ ในสมัยหนึ่ง


ต่อมาแต่ละประเทศก็ต้องต่อสู่เพื่อปกป้องอิสรภาพของตนจากพลังคุกคามภายนอก จากนั้นก็ยังต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพหลังยุคล่าอาณานิคม ต่อมาก็ยังเป็นการต่อสู้แบบตัวใครตัวมันที่จะฟื้นฟูประเทศของตน


ทั้งหมดนี้ยังผลให้ “ผลประโยชน์ภูมิภาค” ยังมีความสำคัญน้อยมาก ในสำนึกของประชากรโดยทั่วไปในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ รวมทั้งไทยเรา


ผมคิดว่าข้อนี้เป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือถ้อยทีถ้อยอาศัยกันพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน


หลายคนยก สหภาพยุโรปเป็นตัวแบบความร่วมมือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทว่า หากจะศึกษาประวัติ ความเป็นมาของสหภาพยุโรปจะเห็นได้ว่า ได้ใช้เวลาเกือบ 50 ปีกว่า นับตั้งแต่ร่วมกันก่อตั้งองค์กรถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป หรือ CECA เมื่อปี 2494 จนมาถึงการใช้ยูโรดอลลาร์ เป็นเงินตราร่วมกันได้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543


ไม่ว่าจะใช้เวลานานเพียงใด หรือผ่านอุปสรรคในอดีตมามากเท่าไร และยังจะต้องเผชิญอุปสรรคที่จะตามมาอีกแค่ไหน สหภาพยุโรปก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว


ใครจะกล้าคาดคิดว่า เมื่อ Jean Monnet หรือ Robert Schuman ฝันเรื่องการรวมยุโรปเมื่อ 40 กว่าปี มาแล้ว จะมีวันที่มีสภายุโรป คณะมนตรียุโรป เงินตราสกุลยุโรป อย่างในปัจจุบัน


คงจะพอเรียกได้ว่าความฝันเป็นจริง


หลายคนมีความฝันที่หลากหลายเกี่ยวกับลุ่มแม่น้ำโขง บางคนก็ฝันถึงการเดินเรือจากมณฑลยูนนานมาไทยและลาว บางคนก็ฝันถึง ระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง บางคนก็ฝันถึงพลังงานไฟฟ้าจากแม่น้ำโขง บางคนก็ฝันถึง Eco-Tourism ในลุ่มแม่น้ำนี้


แต่ความฝันที่สำคัญที่สุดและจำเป็นที่จะต้องทำให้เป็นความจริง โดยเร็วที่สุดก็คือ ความฝันที่ว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมีความเป็นอยู่ที่เทียมเท่ากับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของหกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง


 

จาก: มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1028 ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2543



Comments


Final Logo.png

ที่อยู่:
Bangkok Thailand

Email: 

ส่งข้อความหาเรา
แล้วเราจะติดต่อกลับในไม่ช้า

ขอบคุณสำหรับการติดต่อ

bottom of page