top of page

คืนตัวตนสู่ธรรมชาติ ฝากไว้เพียงต้นไม้

  • รูปภาพนักเขียน: Chamnongsri Hanchanlash
    Chamnongsri Hanchanlash
  • 26 เม.ย. 2566
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 17 ก.ค. 2567



คุณหญิงจำนงศรี ได้จัดทำพินัยกรรมชีวิตไว้เผยแพร่เป็นตัวอย่างให้แก่สาธารณะ มีการเตรียมตัวจากลาอย่างสงบ รวมถึงการริเริ่มแนวคิดการจัดการร่างกายแบบให้สลายคืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นดิน และนำไปปลูกต้นไม้ สลายร่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะเธอเห็นว่ามนุษย์เราตั้งแต่เกิดมา ได้ใช้ประโยชน์จากโลกนี้มาตลอดชีวิตแล้ว การจัดการร่างกายตนเองแบบคืนชีวิตตนเองกลับสู่ธรรมชาติ อาจเป็นประโยชน์บางประการ กระทั่งอาจเป็นโอกาสการทำกุศลครั้งสุดท้าย

เรารู้กันว่า โลกร้อนกำลังวิกฤติ และทั้งที่ตลอดชีวิตของคนเรา ก็ใช้ชีวิตอื่นในการบำรุงชีวิตเรา แถมตอนตาย คนก็ยังยึดอัตตาว่า ให้เผา มองเห็นกลายเป็นควัน แล้วบอกว่า ขึ้นไปสวรรค์แล้ว ความคิดแบบนี้แตกต่างจากธิเบตที่ตายแล้ว ก็เอาศพให้นกแร้งกิน ป้าศรีเลยมีความคิดถึงการไม่เผาร่าง ใช้การสลายร่างกลายเป็นดินเป็นปุ๋ย และนำดินนั้นไปปลูกเป็นต้นไม้ที่แต่ละคนเลือกไว้ ถ้าคนเราไม่ยึดอัตตาก็น่าจะร่วมกันทำให้เกิดเป็นพื้นที่การปลูกต้นไม้ เป็นป่าหรือสวนขนาดสัก 100 ไร่ แล้วจัดภูมิทัศน์ ออกแบบให้สวยงาม”


ข้อริเริ่มของคุณหญิงจำนงศรีกล่าว นับว่าเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากความคุ้นเคยของคนทั่วไปในสังคมไทย แต่หากพิจารณาโดยสาระสำคัญ คือเป็นการเตรียมตัวจากไปอย่างครบถ้วน โดยคิดไปถึงกระบวนการจัดการร่าง อย่างที่เรียกได้ว่าสู่การปล่อยวางตัวตน คล้ายกับแนวคิดการจัดการศพแบบธิเบต ซึ่งนับเป็นการปล่อยวางจากการยึดกับร่างกาย ซึ่งคนทั่วไปยึดถือเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ทั้งคนที่ตายและผู้ที่ยังอยู่ โดยแนวทางนี้ชาวธิเบตจะไม่เก็บอัฐิ(กระดูก) หรือส่วนใดแม้ปลายผม ปลายเล็บของผู้ตายไว้เลย


ในหนังสือฝังเธอที่ปลายฟ้า ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนจากเรื่องจริงของ ซูเหวิน แพทย์หญิงชาวจีน ที่ออกตามหาสามีที่สูญหายไปในทิเบต โดยเธอใช้ชีวิตในธิเบตมากกว่า 30 ปี ส่วนหนึ่งเธอได้กล่าวถึงความตายและการจัดการร่าง (ศพ) แบบธิเบต ว่า “อาจารย์ ,สัปเหร่อ หรือ ด็อมเอ็ม จะชำแหละศพออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยเครื่องมือหลายขนาด มีตั้งแต่มีดอีโต้ ไปจนถึงมีดเล่มเล็กๆ ที่ใช้แล่เนื้อ รวมแล้ว 15-16 เล่ม การชำแหละเริ่มต้นจากการกรีดหนังตรงเหนือคิ้วให้เป็นรอย แล้วถลกหนังศีรษะออกมากองไว้ จากนั้นผ่าท้องเอาตับไตไส้พุงออกมา แล้วแล่เนื้อออกจากกระดูก สับเนื้อเป็นชิ้น จากนั้นจึงใช้มีดอีโต้สับตรงข้อต่อ แล้วค้อนใหญ่กระหน่ำกระดูกให้แตก แล้วจึงผ่ากระโหลกจัดการเอามันสมองออกคลุกเคล้ากับเลือด ซึ่งมันสมองเป็นส่วนที่แร้งโปรดปราน แล้วด็อมเอ็มจะส่งสัญญาณเรียกจ่าฝูงแร้งลงมากิน โดยส่งชิ้นส่วนแรกคือมันสมองที่ผสมกับเลือดให้กินก่อน ตามด้วยเนื้อที่สับไว้


“เมื่อแร้งจัดการกับร่างจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือเศษ ญาติจึงนำส่วนของหนังศีรษะที่ติดผม และเสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่เตรียมมาด้วยเผาตามไป เป็นอันเสร็จพิธีส่งวิญญาณสู่ปรโลก โดยไม่ต้องมีการนำกระดูกไปลอยอังคาร หรือเก็บอัฐิส่วนหนึ่งของผู้ตายไว้ให้ทำบุญระลึกถึงกันทุกปี เพราะนั่นเป็นการทำให้ผู้ตายยังคงมีห่วงผูกพันกับคนที่บ้าน เหตุที่คนทิเบตไม่ร้องไห้ฟูมฟายเมื่อมีคนตาย เพราะอยากให้วิญญาณไปสบายนั่นเอง”

ฟังดูอาจรู้สึกสยองแต่ “ถ้าจะพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้ว ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าการเกิด การตาย เป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับดวงวิญญาณที่ไม่ดับสูญ วัฒนธรรมบนหลังคาโลกที่ปราศจากการยึดติดในร่างกาย ยังเปิดโอกาสให้ผู้ตายได้ทำกุศลครั้งสุดท้ายด้วยตนเอง เมื่อร่างของเขาเติมเต็มกระเพาะอาหารของนกแร้ง เท่ากับเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้อีกหลายชีวิต ที่ไม่ต้องเป็นอาหารของนกแร้ง


ส่วนในสังคมตะวันตก ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดการออกแบบความตาย แบบที่เลือกการตายอย่างส่งเสริม

สิ่งแวดล้อมหรือแบบตายสงบศพสีเขียว ซึ่งเริ่มปรากฏในต่างประเทศ โดยมีเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีกำหนดมีผลบังคับใช้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เข้ามาสนับสนุน


สถานรับทำศพแบบพิเศษ ที่นครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา บริการหมักซากศพให้ย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยชั้นดี เหมาะสำหรับนำไปทำสวนและเพาะปลูก ซึ่งทางบริษัทรีคอมโพสเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "การประกอบสร้างใหม่" (Recomposition) และ "การลดรูปแบบอินทรีย์ตามธรรมชาติ" (Natural organic reduction) โดยนำศพเข้าเก็บในช่องรูปหกเหลี่ยม ที่สร้างให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะมีการกลบร่างของผู้เสียชีวิตด้วยเศษไม้สับเป็นชิ้นเล็กๆ ในสภาพที่ปล่อยให้อากาศผ่านได้สะดวก เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในการนี้ เมื่อครบกำหนดที่ร่างผู้ตายได้ย่อยสลายลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่ากินเวลาประมาณ 30 วัน ญาติมิตรจะสามารถนำดินปุ๋ยทั้งหมดหรือบางส่วนที่ได้จากการหมักศพไปใช้ปลูกต้นไม้ โดยมีดินปุ๋ยเกิดขึ้นราว 1 ลูกบาศก์เมตรต่อการย่อยสลายศพ 1ร่าง


การจัดการพินัยกรรมชีวิตอย่างครบองค์ ที่รวมถึงเลือกวิธีการจัดการร่าง (ศพ, ธาตุขันธ์, ธาตุ4 ) คืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นต้นไม้ ซึ่งแง่หนึ่งเป็นการสื่อสารแสดงพุทธปรัชญาต่อชีวิตและความตาย โดยอาศัยการพัฒนาจิตในช่วงชีวิตระยะสุดท้าย ที่เตรียมตัวจากอย่างสงบ จึงเป็นดั่งการปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า ของผู้เตรียมตัวตายเพื่อพัฒนามรณสติของตน เกิดเป็นป่าหรือสวน 100 ไร่ ที่เปี่ยมความหมาย


 

ข้อมูลอ้างอิง


1.ปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า :แนวคิดและรูปแบบการดูแลชีวิตระยะสุดท้าย วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชีวิตและความตาย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย


2.หนังสือ ฝังเธอที่ปลายฟ้า

Comentarios


Final Logo.png

ที่อยู่:
Bangkok Thailand

Email: 

ส่งข้อความหาเรา
แล้วเราจะติดต่อกลับในไม่ช้า

ขอบคุณสำหรับการติดต่อ

bottom of page