คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์
- Chamnongsri Hanchanlash
- 3 พ.ค. 2566
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ค. 2567
เรื่อง: หนอนสาว
ภาพ: ไชยยันต์

จากเดิมที่คิดกันไว้ว่าจะทำหนังสือเล็กๆ ขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับญาติผู้พี่ที่ล่วงลับ
แต่พอได้ลงมือทำแล้ว ข้อมูลต่างๆ มีมากมาย กลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ที่มีความยาวกว่าสองร้อยหน้า มีชื่อว่า ดุจนาวากลางมหาสมุทร
คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมเรื่องราวการต่อสู้และฟันฝ่าของคนหลายชั่วอายุ จนกลายมาเป็นตระกูลหวั่งหลี
จากการพิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายสุวิทย์ หวั่งหลี เมื่อปี พ.ศ. 2538
ต่อมาทางสยามสมาคมฯ ได้นำไปตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือสยามอารยะ จึงถือว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2
ส่วนการพิมพ์ครั้งที่ 3 เป็นฉบับเพิ่มเติมและปรับปรุง ออกมาในรูปแบบของพ็อคเก็ตบุ๊ค โดยมีคำนิยมพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และคำนำของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
“หลังจากการพิมพ์สองครั้ง จะมีคนติดต่อเข้ามาหลายคน บางคนมีข้อมูลเพิ่มเติมที่อยากจะบอกเรา ยังมีญาติพี่น้องที่ว่า อ้าว---เรื่องนี้ไม่รู้หรือ แล้วก็เล่าเรื่องใหม่ ๆ ให้ฟัง
...และยังได้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เพิ่มจากอาจารย์ศุภรัตน์ (เลิศพาณิชย์กุล) ซึ่งเป็นนักวิชาการที่สนใจเรื่องจีนและคนจีนอพยพ
...อาจารย์กรุณามากเลย คืออ่านตรวจมีอะไรควรแก้และควรเพิ่มก็ช่วยบอกให้
...อาจารย์ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ ทอดพระเนตรสุสานฉลองพระองค์พระเจ้าตากสินและกลุ่มบ้านหวั่งหลี ที่อำเภอเท่งไฮ้ ทางใต้ของจีน ก็เลยได้มีโอกาสซักถามนักประวัติศาสตร์ทางโน้น ตอนนั้นอาจารย์ได้อ่าน ‘ดุจนาวากลางมหาสมุทร’ จากการพิมพ์ครั้งแรกแล้ว”

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องในแนวประวัติศาสตร์เล่มแรกที่คุณหญิงเขียนขึ้นมา
“ค่ะ แต่เดิมงานประเภทที่ใกล้ใจที่สุด คือ งานกวีนิพนธ์
...มาเขียนเล่มนี้สนุก ตื่นเต้นมากกับการค้นข้อมูล เพราะเป็นคนขี้สงสัย ชอบรู้ไปหมด
...สนใจอะไร ต้องขอรู้ให้ได้ เช่น พอเขียนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ต้นตระกูลหวั่งหลีสร้างเมื่อร้อยสามสิบปีก่อน
...ก็เกิดอยากรู้เรื่องเทพเจ้าผู้หญิงของจีนให้มากขึ้นอีก ก็ตามค้นต่อได้ข้อมูลจากหลายแหล่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่ธรรมศาสตร์
...เรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกัน รู้ว่าค้นเกินความจำเป็น แต่ทำให้ภาพปรากฏชัดกับใจเรา
...ไปโน่นถึงเมืองจีน พูดจีนก็ไม่เป็น ทางหวั่งหลีให้ล่ามไปด้วยได้พบข้อมูลแปลกๆ ที่ไม่เคยนึกว่าจะได้พบ
...เช่นบรรพบุรุษที่หัวหาย หายจริงๆ คือ ร่วมกบฏต่อราชวงศ์แมนจูเลยถูกเอาไปตัดหัว
...พอญาติไปเก็บศพก็หาหัวไม่พบ เพราะสมัยนั้นเรื่องเอาหัวของหัวหน้ากบฏหรือกุนซือเสียบประจานนี่เป็นเรื่องธรรมดา
...อันที่จริงบรรพบุรุษคนนี้เป็นแค่ชาวนาที่ยากจนแต่บังเอิญหัวดีได้เล่าเรียนจนสอบได้ระดับ ถือว่าเก่ง จึงได้เป็นที่ปรึกษาให้หัวหน้ากบฏ สรุปว่าหัวหายเพราะสมองดี
...ก็เลยถูกบันทึกไว้ในสาแหรกตระกูลว่า ก๋งผู้หัวหาย ล่ามแปลให้ว่าอย่างนั้น แต่บอกไม่ได้ว่าทำไม เราก็ตามหาจนได้เรื่อง
...เป็นประวัติตระกูลที่มีสีสันมาก มากจนเกือบจะเหลือเชื่อ ต้องเขียนที่มาของข้อมูลไว้หมด กลัวถูกหาว่ายกเมฆ
...บรรพบุรุษหวั่งหลีเริ่มมาเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่มาตั้งรกรากในปีที่ 3 ของรัชกาลที่ 5 การมาก็มีรายละเอียดราวกับนิทาน
...หวั่งหลีนี้เชื้อสายแต้จิ๋ว บรรพบุรุษที่มาไทยคนแรกในรัชกาลที่ 4 ไม่นับเป็นคนหวั่งหลีสายไทยรุ่นแรก มานับที่ลูกชายเขาที่มาแต่งงานตั้งบ้านเรือนที่นี่ คนที่เป็นพ่อนั้นทรหดมาก
...ตั้งแต่เป็นชาวนา มาเป็นคนจับปลา ยืนแช่น้ำทั้งวันจนได้สมญาที่แปลว่า ‘ผีน้ำ’ แล้วก็เป็นจับกังแบกสินค้าขึ้นเรือลงเรือ
...ต่อมาพัฒนาตัวเองจนได้เป็นไต้ก๋ง ต่อมาลงทุนซื้อเรือจนเป็นเจ้าของเรือ แล้วก็เจ้าของกองเรือพาณิชย์ ครั้งแรกที่มาเห็นเมืองไทย อาจจะยังเป็นจับกังอยู่
...ส่วนลูกชายเขามาอย่างโก้แล้ว เป็นเจ้าของเรือที่พ่อส่งมาปักหลักที่เมืองไทย
...มีเกร็ดตอนมาว่ามีงูตัวใหญ่ขึ้นมาจากแม่น้ำมาขดอยู่บนหมอน นัยว่าเป็นแม่ย่านางเรือ หรือจะอะไรก็แล้วแต่ คนเล่าที่ต่างคนก็มีมุมของตัวเอง ดังนั้นบริษัทเดิมๆ ในเครือหวั่งหลี ถึงได้ใช้งูเป็นสัญลักษณ์
...ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนในตระกูลเป็นนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย ถูกลอบยิงตาย ในวันหลังจากญี่ปุ่นวางอาวุธ เขามีบทบาทที่แปลกและซับซ้อนมาก ซึ่งค้นพบอย่างไม่นึกฝัน ถ้าไม่ได้มาเขียนเรื่องนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ตลอดไป
...ท่านคือคุณพ่อคุณสุวิทย์ เป็นคนเก่ง คนดีที่ตกอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก ต้องกล้ำกลืนตีสองหน้าตลอด
...เพราะปัญหาการเมืองระหว่างสงคราม ที่ไทยจำเป็นต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ผลที่สุดก็คือความตาย ถูกลอบยิงที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ตรงสุดตรอกกัปตันบุช แถวๆ โรงแรมรอยัล ออคิดเดี๋ยวนี้
...มีบางอย่างที่ไม่สามารถเขียนในหนังสือได้เพราะอาจมีผลกระทบกับคนอื่นๆ มากเกินไป ห้าสิบกว่าปียังสดเกินไป ถ้าเรื่องผ่านไปแล้วร้อยกว่าปีอาจเขียนได้ แต่อย่างว่าแหละ กว่าจะร้อยปี คนที่รู้ก็ตายหมดแล้ว
...ก็แปลกนะ ท่านตายขณะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย ซึ่งบางช่วงก็เรียกว่าหอการค้าไทยจีน พ่อของท่านก็ตายในตำแหน่งเดียวกัน
...ส่วนลูกคือคุณสุวิทย์ก็เสียชีวิตขณะที่เป็นนายกสภาหอการค้าไทย ทั้งสามคนถึงแก่กรรมในเดือนสิงหาฯ
...หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ว่าค้นคว้าเสร็จแล้วมาเขียน แต่ทำเป็นตอน ๆ
...คือจะค้นเฉพาะส่วนที่กำลังจะเขียน จะจดจ่อหมดอยู่กับตรงนั้นจนเขียนเสร็จ แล้วก็ค้นเรื่องของตอนต่อไป อารมณ์ความรู้สึกจะเข้ม แล้วก็สดมาก
...ถึงตอนเขียน ข้อมูลที่ได้มานั้นมันเข้าไปอยู่ในใจเรา ก็เลยเป็นการเขียนจากความรู้สึกข้างใน
...แทบจะตัดตัวเองจากโลกไปเลย ทิ้งงานทิ้งการอื่นหมด เพราะต้องเสร็จทันแจกตามกำหนด
...ไปนั่งอยู่บ้านพี่วิทย์ (สุวิทย์ หวั่งหลี) นอนที่นั่นด้วย แทบไม่ได้กลับบ้านตัวเอง
...เรียกว่าหลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่เราค้นคว้าเขียนถึงดึกดื่นตีหนึ่งตีสองชอบกลางคืน ความมืดปิดกั้นเรื่องอื่นๆ ออกไปเหลือแต่โลกของเรื่องที่กำลังค้น กำลังเขียน
...ดิฉันชอบที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนในคำนำให้เล่มนี้ว่า เป็นไออุ่นประวัติศาสตร์
...เขียน ๆ ไปก็พบอะไร ๆ ที่ทำให้นึกถึงคำท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นกับเหตุปัจจัย เหตุเกิดจากการกระทำของเราเอง แต่ปัจจัยคือสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
...เขียนไป ๆ รู้สึกเหมือนไม่ใช่เขียนประวัติตระกูลแล้ว กลายเป็นการย้อนให้เห็นว่า ชีวิตคนเหมือนสำเภาที่กำลังเดินทางอยู่กลางมหาสมุทร
...ดิฉันมองว่ามหาสมุทรในที่นี้ คือมิติของเวลา ความเฉลียวฉลาดเก่งกล้าสามารถของไต้ก๋งผู้บังคับเรือสำคัญมากแน่นอน แต่เก่งอย่างไร ก็ไม่สามารถบังคับพายุหรือคลื่นลมได้
...บางลำไต้ก๋งเก่งมาก แต่ถ้าพายุบ้า ฟ้ากระหน่ำ สำเภาก็อาจล่มหรือถูกซัดออกนอกเส้นทางได้
...ไต้ก๋งบางคนไม่เก่ง แต่ทะเลและดินฟ้าอากาศช่วงนั้นราบรื่น ก็อาจจะไปถึงฝั่งได้
...ชีวิตคนเหมือนสำเภากลางมหาสมุทรบางครั้งก็อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเมื่อมองทางไหนก็ไม่เห็นฝั่ง”
จุดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ
นอกจากนี้ การทำหนังสือเล่มนี้ทำให้คุณหญิงได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง
“อย่างแรกคือ ได้สัมผัสเรื่องของตระกูล ดิฉันเป็นลูกหลานทางแม่ซึ่งทางจีนถือว่าไม่ได้อยู่ในสกุลแล้ว ก็เลยได้มองจากข้างนอกและข้างในผสมกัน ได้ทั้งด้านวิเคราะห์และอารมณ์
...ดิฉันไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นนักเขียน สำหรับดิฉันข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึก ทำให้เกิดขบวนการนึกคิดที่สะท้อนลึกถึงชีวิตกับสัจธรรม
...เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง ความสำเร็จ ในเบื้องลึกไม่มีอะไรง่าย การต่อสู้ ฟันฝ่า สูญเสีย อยู่เบื้องหลังที่ไม่มีใครเห็น
...ความไม่แน่นอน คือ ธรรมชาติของชีวิต ใจเราต้องมั่นคงถึงจะยอมรับความไม่แน่นอนนั้นได้อย่างสร้างสรรค์
...ความสำเร็จกับความล้มเหลว ก็คือเหรียญอันเดียวกัน แต่คนละหน้าเท่านั้นเอง เป็นเหรียญที่พลิกได้เสมอนะคะ”
ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกนั้น คุณหญิงมีเวลาในการเขียนต้นฉบับน้อยมาก เนื่องจากข้อกำหนดของเวลา
แต่สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้ คุณหญิงใช้เวลาในการเพิ่มเติมข้อมูลค่อนข้างนาน
“เพราะว่าดิฉันต้องทำงานหลายด้าน ทำมูลนิธิเรือนร่มเย็น ที่จังหวัดเชียงราย
...เราช่วยป้องกันเด็กผู้หญิงที่เพิ่งจบการศึกษาระดับประถม จากการขายตัวหรือการค้าหรือยาเสพติด ดิฉันต้องรับผิดชอบมาก โดยเฉพาะการหาทุนมาดำเนินงาน
...งานโรงพยาบาล (โรงพยาบาลจักษุรัตนิน) ถึงแม้ลูก ๆ จะรับช่วงต่อแต่เขาก็ยังปรึกษาดิฉันอยู่เสมอ แล้วก็ยังมีงานจรอีกมาก”

คุณหญิงเขียนหนังสือเล่มนี้สำเร็จ เพราะ
“อยากรู้ อยากเห็น อยากเขียน มี คุณ ฐาวรา หวั่งหลี (ภรรยา สุวิทย์ หวั่งหลี) คอยดูแลให้ความสะดวกทุกอย่าง อาหารทุกมื้อ และยังคอยเอาขนมขบเคี้ยวมาคอยวางข้างเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เคยขาด
...มีหลานคุณสุวิทย์ พิมประไพ พิศาลบุตร ช่วยค้นคว้า
...ถ้าให้เล่มนี้เป็นหนังสือโปรด ก็คงจะได้นะคะ
...เกี่ยวกับการเขียนนั้น พูดเสมอว่าสำหรับดิฉันเป็นเหมือนการเดินทาง จากจุดเริ่มประโยคหนึ่ง ความคิดก็จะตามมาเป็นสาย
...การเขียนงานกวีพาเราลึกเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ทำให้รู้จักตัวเองในแง่มุมที่ไม่เคยรู้ ลำพังนั่นเป็นการเดินทางเข้าข้างใน
...สำหรับหนังสือเล่มนี้ เราต้องค้นคว้าศึกษาข้อมูลนอกตัวมากมาย
...แต่พอลงมือเขียนก็กลายเป็นการเดินทางทั้งสายออกข้างนอก และสายเข้าข้างใน ที่มีตรอกซอยเชื่อมกันตลอด ชอบมาก ๆ
...อีกอย่างเป็นการเขียนที่ได้รับน้ำใจจากหลายๆ ฝ่าย อบอุ่นเหลือเกิน ญาติพี่น้องช่วยกันอย่างมากค่ะ”
เพื่อให้หนังสือมีความสมบูรณ์ในเนื้อหามากที่สุด
จาก : คอลัมน์ หนังสือเล่มโปรด นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 8 ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2542
Comments