“ฉันคือปูลม”
- Chamnongsri Hanchanlash
- 15 พ.ค. 2566
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ค. 2567
นิทานสายใยรักครอบครัว…

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” ประตูโลกอันมหัศจรรย์ค่อยๆ แง้มออก เมื่อบทเริ่มต้นของการผจญภัย ในมิติของความคิดฝันบรรเลงขึ้น หัวใจดวงน้อยๆ ก็ถูกสะกดให้ตกอยู่ในมนต์ขลังแห่งจินตนาการ ดวงตาที่บ่งบอกถึงความตื่นเต้นและรอยยิ้มอันบริสุทธิ์สดใสประกายขึ้นเมื่อโลกทั้งใบย่อลงมาอยู่ ณ จุดนี้... จุดนัดพบทางจินตนาการอันอบอุ่น ที่ทุกสิ่งล้วนบังเกิดขึ้นได้ ภายใต้พลังอันน่าทึ่งของ “นิทาน”
ยามที่ห่มดวงดาวคลี่คลุมท้องฟ้า ในอ้อมแขนอันอบอุ่นของพ่อแม่และลูก ที่ร่วมกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความเข้าใจ ผ่านสื่อนิทาน คือโมงยามอันงดงามของครอบครัว ที่ผู้หญิงคนนี้ “คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน” มุ่งหวังให้ภาษาแห่งจินตนาการถักทอขึ้นทุกครัวเรือน เช่นเดียวกับวัยเยาว์อันสดใสของคุณหญิงที่บ่มเพาะนิสัยรักการอ่านการเขียน จากความผูกพันในเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึกของนิทาน
ในบทบาทของประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลจักษุรัตนิน คุณหญิงคือผู้สืบสารอุดมการณ์และงานอันเป็นที่รักต่อจากนายแพทย์อุทัย ผู้เป็นสามี แต่อีกบทบาทหนึ่งอันเป็นเนื้อแท้แห่งตัวตนและเป็นบทบาทที่คุณหญิงบรรจงสรรค์สร้างขึ้นด้วยหัวใจนั้น คือภาระของความรัก ในฐานะที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ผู้ร่วมหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้สึกงดงาม เพื่อกล่อมเกลาหัวใจทั้งดวงน้อยและดวงใหญ่ในรูปของงานหนังสือ
ยามเช้าที่ฟ้ายังชื้นฝนในวันพักผ่อน คุณหญิงได้ไขกุญแจสู่ประตูแห่งนิทานของคุณหญิงให้ฟังว่า “ผูกพันกับนิทานตั้งแต่ตอนเล็กๆ คุณยายเล่านิทานเก่งมาก ท่านเล่าทุกอย่าง นิทานพื้นบ้าน นิทานชาดก และบางตอนที่สนุกๆ จากวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นสังข์ทอง พระอภัยมณี ขุนข้างขุนแผน หรือรามเกียรติ์ ก็เลยคุ้นเคยกับเรื่องในวรรณคดี ตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก”

เตียงไม้ขนาดใหญ่กลางลานบ้านย่านสาธร ในบรรยากาศร่มครึ้ม และที่ “บ้านเนาว์สุข” ริมทะเลหัวหิน คือสถานที่ที่จุดประกายจินตนาการให้คุณหญิงจำนงศรีเมื่อคราวเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ภาพของคุณยายที่นั่งจีบพลูพลางเล่านิทานให้หลานๆ ฟัง ยังกระจ่างชัดในความทรงจำ
“คิดว่าที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบอ่าน ชอบเขียน ดิฉันคิดว่ามันทำให้เราช่างคิด ช่างสังเกตด้วยนะ จำได้ว่ารามเกียรติ์เป็นเรื่องที่ชอบมากที่สุด ทั้งตื่นเต้นมหัศจรรย์ ทั้งชวนให้คิด ให้สังเกต อย่าง หนุมาณนั่นเก่งทุกอย่าง เอาชนะใครๆ ก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าใต้บาดาลหรือในท้องฟ้า เผาเมืองยักษ์ได้ทั้งเมือง แต่พอไฟที่ตัวเองจุดเผาเมืองของเขามาไหม้หางของตัวเอง กลับไม่รู้จะดับอย่างไร ต้องวิ่งไปหาฤๅษี ให้เขาบอกตัวว่า ตัวน่ะโง่แค่ไหน ทำไมไม่เอาน้ำบ่อน้อยของตัวเองนั่นล่ะดับไฟ คือปากไง เอาปากอมหางไฟก็ดับ เหมือนคนจริงๆ นะ เก่งสารพัด แต่พอปัญหาร้อนๆ มาถึงตัวกลับต้องวิ่งไปหาพระ หาคนทรง นี่มาคิดเอาตอนนี้นะ เมื่อเด็กก็แค่นึกแปลกและขำมาก ชอบฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก พออ่านหนังสือได้ก็เลยชอบอ่านรามเกียรติ์ อ่านฉบับรัชกาลที่ 1 ”
จวบจนเมื่อเติบโตและมีครอบครัว คุณหญิงได้ถ่ายทอดวันเวลาแห่งความสุขในวัยเยาว์ให้ลูกๆ ได้
โลดแล่นในมิติแห่งความฝันด้วยเช่นกัน “ก็เล่าเรื่องที่คุณยายเคยเล่าให้ลูกๆ ฟัง เล่าเพราะมันสนุกและมันก็เป็นเรื่องไทยๆ แล้วเด็กๆ ก็ชอบมาก อีกอย่างหนึ่งมันทำให้เขารู้จัก “ราก” ของตัวเอง ช่วงที่ลูกๆ ยังเล็ก หนังญี่ปุ่นประเภท “ไอ้มดแดง” และสัตว์ประหลาดต่างๆ กำลังเฟื่องฟูเรียกว่าเป็นยุคทองของหนังเด็กจากญี่ปุ่นเลยทีเดียว เด็กๆ จะวาดรูปเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น เล่นเลียนแบบหนังญี่ปุ่น
แต่เมื่อดิฉันเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ ฤทธิ์มากมายไม่แพ้กันเลย ลูกๆ ก็ชอบมาก ทำให้แกต้องใช้จินตนาการ เพราะในการฟังนิทานเขาต้องคิดเอง วาดภาพในความนึกคิด เวลาดูโทรทัศน์เขาเห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง ทุกอย่างสำเร็จรูปมาให้หมด”
จากจุดเริ่มต้นของคนที่รักการอ่าน พัฒนาสู่ความรักการเขียน คุณหญิงได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้น ทั้งในรูปกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น บทละคร และนิทาน เช่น งานกวีนิพนธ์ชุด ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง และ On The Empty Page นิทานไม่น้อยกว่า 6 เรื่อง หยดฝนกับใบบัว ซึ่งคีตกวี ดนู ฮันตระกูลได้เคยแต่งเป็นเพลงนิทานสำหรับวงออร์เครสต้า บทละครเรื่อง สิ้นแสงตะวัน และ ขอบฟ้าของแก้วตา และเรื่องใหม่ล่าสุดที่กำลังจะอวดโฉมรับลมหนาวในเดือนพฤศจิกายน คือเรื่อง ฉันคือปูลม ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Wind Crab ในชุด On The White Empty Page

“เรื่องนี้แต่งขึ้นมาจากความผูกพันที่มีต่อหัวหิน คือเมื่อสมัยเด็กๆ จะชอบสังเกตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปู หอย คลื่น หรือทราย และที่ชอบที่สุดคือนั่งดูสีกับแสงและท้องทะเล ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องราวนั้นมีที่มาจากลูกสาวคนเล็ก ตอนเขาเด็กๆ เขาคิดว่าตัวเองคางยื่น แขนขายาวเก้งก้าง ในขณะที่พี่ๆ สวยกว่าเยอะ เขาคิดของเขาอย่างนั้น เราก็เลยเอาเจ้าปูลมที่ไม่มีสีสัน ขายาวเก้งก้าง ก้ามเล็กข้าง ใหญ่ข้าง มาเล่าเป็นนิทาน” จากประกายความคิดที่เกิดจากลูกสาวคนเล็ก ผสมผสานกับความทรงจำในวัยเยาว์และจินตนาการของคุณหญิง กลายมาเป็นเรื่องราวของเจ้าปูลมตัวหนึ่ง ที่ไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตน และเหนื่อยล้ากับการขอความช่วยเหลือจากทะเล ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แต่ในที่สุดสัจธรรมก็บังเกิดขึ้น
“เจ้าปูลมรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยไม่งาม แม้กระทั่งชื่อ มันไม่อยากชื่อปูลมด้วยซ้ำ เพราะชื่อของมันเป็นแค่เงาลม ปูลมอยากเป็นปูทอง ก็วิ่งไปขอแสงจากดวงอาทิตย์ อยากเป็นปูเงินก็วิ่งไปขอแสงจากดวงจันทร์ มันพยายามไขว่คว้าที่จะมี จะเป็น ในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเอง แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องเสียไป เพราะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในเนื้อแท้ มันก็ทุกข์ ก็เหนื่อย เพราะต้องคอยวิ่งตามไขว่คว้า หาให้ได้ อย่างที่ใจอยาก แต่ได้มาก็สูญไปอยู่เรื่อยๆ แต่ในที่สุดความสุขความสงบจะเกิดขึ้น หากเมื่อเราหวนคิดได้ว่า จริงๆ แล้วเราคืออะไร นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องของสีและแสง มีคุณไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นศิลปินที่โดดเด่นในเรื่องของการใช้สี เป็นผู้สร้างภาพประกอบ”
นอกจาก “ฉันคือปูลม” นิทานเรื่องใหม่ที่ใกล้จะออกมาทักทายกับเด็กๆ ในเร็ววันนี้แล้ว คุณหญิงยังมีงานนิทานเรื่องใหม่ที่กำลังเขียนอยู่ คือเรื่องแมงมุมช่างทอ “ปกติเวลาจะเขียนนี่ ไม่ได้นึกว่าจะเขียนเป็นนิทาน แต่นึกอะไรได้ หรือเห็นสิ่งใดก็จดบันทึกไว้ แล้วมันก็ค่อยๆ งอกเป็นงานกวีบ้าง นิทานบ้าง อย่างเรื่องแมงมุมช่างทอก็เขียนแบบสบายๆ เป็นงานที่เน้นเรื่องสีและแสงอีกเช่นกัน คือไปเห็นเจ้าแมงมุมตัวจิ๊ดสีส้มปรี๊ดชักใยอยู่ใต้ถุนบ้าน ที่วัดสวนโมกข์ ไชยา สมัยที่ไปอยู่สวนโมกข์ตั้งหลายเดือน” ด้วยความเชื่อที่ว่านิทานคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ที่เปิดประตูโลกกว้างให้แก่เด็กๆ ทั้งยังเป็นสะพานแห่งความรัก ที่เชื่อมโยงความรู้สึกดีงามระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ความคิดฝันของคุณหญิง จึงอยากเห็นต้นไม้แห่งจินตนาการนี้ เติบโตขึ้นกลางใจทุกดวง
แต่ในยุคสมัยแห่งความเร่งรีบ นิทานซึ่งเคยเป็นสื่อสายใยที่ถักทอความรักขึ้นในครอบครัว ค่อยๆ เลือนหายไป เด็กๆ มีโทรทัศน์คอยบอกเล่าและแสดงภาพให้เห็นทุกอย่าง แทนที่จะได้ใช้จินตนาการผ่านการเล่าของพ่อและแม่
“เด็ก ๆ สมัยนี้มีความใกล้ชิดกับนิทานน้อยลง ดูโทรทัศน์กันมาก โทรทัศน์ให้ทั้งภาพและเสียงเด็กๆ ใช้จินตนาการน้อยกว่าฟังนิทานที่ผู้ใหญ่เล่า ความอบอุ่นก็น้อยกว่า สมาธิขณะดูทีวีน่ะมี แต่เป็นสมาธิที่ง่ายและตื้นไปเสียหน่อย มีภาพและการเคลื่อนไหวช่วยดึง แต่ถ้าเป็นนิทาน เขาจะต้องสร้างภาพเองต้องใช้สมาธิให้จดจ่อ เพื่อคิดตามไปกับเรื่องราว”
แม้วันนี้นิทานจะอยู่ห่างไกลจากความคิดฝันของเด็กๆ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ของสื่อนิทาน คุณหญิงและมูลนิธิเด็กจึงหวังจะรื้อฟื้นให้นิทานกลับมาเป็นสื่อสร้างสรรค์ ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ดังเช่นวันวาน กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานนิทานครั้งแล้วครั้งเล่า ได้ช่วยปลุกโลกของนิทานให้ตื่นจากความหลับใหล
“งานนิทานที่มูลนิธิจัดขึ้นก็เพื่อดึงให้ผู้ใหญ่และเด็กกลับมาสนใจนิทาน มีหลายอย่างที่ครอบครัวได้รับร่วมกันจากการชมภาพนิทาน และฟังเพลงที่ประกอบการแสดงนิทานสดๆ บนเวที การแสดงสดสามารถสะท้อนอารมณ์ระหว่างผู้แสดงหรือผู้เล่ากับผู้ดู ซึ่งจะทำให้เด็กมีความไวและความละเอียดอ่อนขึ้นในการสัมผัสอารมณ์ผู้อื่น พ่อแม่ลูกมาดูด้วยกันก็มีอะไรจะคุยกัน ถกกันต่อที่บ้านได้อีก ทำให้อบอุ่นสนิทสนมกันในด้านของความคิด”
“ตั้งแต่มูลนิธิได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น ความตื่นตัวในเรื่องของความคิด จินตนาการและนิทานมีมากขึ้น เดี๋ยวนี้จัดงานครั้งใด คนจะเต็มจนล้นออกมานอกหอประชุม ซึ่งผู้ชมไม่ได้มีแต่เด็กเท่านั้น แต่พ่อและแม่จะมาด้วย มาฟังนิทานและสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วยกัน”
และแล้วเมล็ดพันธุ์แห่งความรักก็เบ่งบานกลางดวงใจ เมื่อนิทานยังคงมีมนต์ขลังแห่งการสรรสร้างสายใยอันอบอุ่นตลอดมาไม่เสื่อคลาย วันนี้สะพานแห่งความรักและความเข้าใจทอดตัวขึ้นแล้ว เพื่อเชื่อมโยงโลกใบใหญ่และโลกใบเล็กให้ก้าวเดินเคียงคู่กันไปบนถนนแห่งจินตนาการอันงดงาม
จาก: คอลัมน์ริ้วสีแห่งชีวิต นิตยสารไอ เลิฟ มาย ไลฟ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 36 วันที่ 10-16 ตุลาคม 2537
Comments