มาลัยหลากสี
- Chamnongsri Hanchanlash
- 8 ก.พ. 2566
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 2 ก.ค. 2567
ของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน

วันที่ 14 กรกฎาคมนี้ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จะมีอายุครบรอบ 26 ปี
ในโอกาสนี้ ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อนประภาคารปัญญา ของมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จะจัดแสดงคอนเสิร์ตดนตรีไทยแนวประยุกต์ ‘มาลัยหลากสี’ เพื่อหารายได้สมทบทุน ‘ศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อน 'ประภาคารปัญญา’ มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนฯ และเพื่อเผยแพร่ดนตรีไทยเดิม และไทยร่วมสมัยในแนวดนตรีสากลตะวันตก 2 รอบ
รอบแรก วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม เวลา 14.30-16.00 น. รอบที่สอง วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม เวลา 18.00-19.45 น. ที่โรงละครแห่งชาติ
รายการนอกจากจะประกอบไปด้วยการบรรเลงของวงดนตรี ‘ไหมไทย’ ออร์เคสตร้า ภายใต้การอำนวยการของ ดนู ฮันตระกูล โดยมี ประทักษ์ ประทีปะเสน เป็นผู้อำนวยการเพลง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซูไรมาน เวศยาภรณ์ เป็นผู้ดำเนินงานด้านแสงและฉาก จรัล มโนเพ็ชร เป็นพิธีกรและนักร้อง แล้วยังมีการอ่านบทกวีประกอบเพลงโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน
วันนั้นท่านจะได้ฟังเพลงทำนองไทยเดิมและเพลงจากยุคต้นของไทยสากล จากฝีมือเรียบเรียงของ ดนู ฮันตระกูล สุรสีห์ อิทธิกุล ศักดิ์ชาย เล็กวงษ์เดิม และอิทธินันท์ มาลัยช่วงที่สามเป็นบทเพลงแห่งเมืองเหนือของ จรัล มโนเพ็ชร ช่วงที่สี่และห้าของมาลัยพวงนี้เป็นบทประพันธ์ร่วมสมัยของดนู ฮันตระกูล จากชุดล่าสุด ชื่อ ‘เจ้าพระยาหยาดด้าว ดินสยาม’ และจากชุด ‘ลมหายใจกวี’ บทกวีประกอบเพลงของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และอุชเชนี

คุณหญิงจำนงศรี รัตนินจะเป็นผู้อ่านบทกวี ‘ขอบฟ้าขลิบทอง’ ของอุชเชนี ซึ่งเป็นบทที่หลากหลายด้วยอารมณ์ ในการที่จะสร้างความหวังและพลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย เพื่อความหมายของชีวิต และชีวิต-ในความหมายของคุณหญิงจำนงศรี รัตนิน นั้น ย่อมรวมไปถึงชีวิตของคนปัญญาอ่อน
"เมื่อตัวเองก็เป็นแม่ ก็เข้าใจความทุกข์ของเขา เป็นความทุกข์ที่ยาวนาน มองไม่เห็นที่สิ้นสุดนะคะ คนส่วนใหญ่จะเห็นว่า คนปัญญาอ่อนเป็นภาระของสังคม แล้วก็การช่วยเด็กปัญญาอ่อนเป็นการสิ้นเปลืองเงินและบุคคลากรอย่างไม่คุ้มค่าเลย ในขณะที่ช่วยเด็กฉลาดไม่เท่าไหร่เลยก็ได้ผลมากมาย ดิฉันก็เห็นด้วย แต่เราปฏิเสธได้ไหมว่าเด็กปัญญาอ่อนเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เราบังเอิญมีปัญญา เขาไม่มี ถ้าเราเป็นเขาล่ะ หรือถ้าเรามีลูกปัญญาอ่อนล่ะ เราจะต้องการ ‘น้ำใจ’ และความช่วยเหลือบ้างไหม
"ความฉลาดน่ะเป็นดาบสองคมนะ ใช้ในทางสร้างสรรค์ก็ดีไป ใช้ล้างผลาญ ทำลายคนอื่นก็ได้ ใช้กอบโกยผลประโยชน์ให้ตัวเองอีกล่ะ น่ากลัวนะ ค่านิยมที่เด็กฉลาดกำลังถูกป้อนกันอยู่ ความเป็นผู้นำเอย ความสำเร็จเอย แล้วเมตตาจิต จินตนาการ ความละเอียดอ่อนล่ะ
"อย่างน้อยคนปัญญาอ่อนก็มีความบริสุทธิ์ การแสดงออกทางอารมณ์ก็ไม่มีการเสแสร้ง เขาต้องการความรักและเขาก็ให้ความรักได้มากด้วย อยากให้มองว่าเขาก็เป็นคน มีชีวิต มีจิตใจ อย่าละเลย หันหลังให้ หรือยืนจ้องเหมือนเขาเป็นสัตว์อะไรก็ไม่รู้...”
คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะนักแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ นักเขียน นักวิจารณ์ และกวีไทยที่เขียนงานภาษาอังกฤษ บทละครเรื่อง ‘สิ้นแสงตะวัน’ ของเธอ เคยได้รับรางวัลวรรณกรรมจากมูลนิธิจอห์น เอ.อีกิ้น เมื่อพุทธศักราช 2527

ความสะเทือนใจจากการที่ได้พบเห็นเด็กปัญญาอ่อน ทำให้เธออยากที่จะเขียนบทละครเรื่องหนึ่งขึ้นมา
“เรื่องนี้อยู่ในหัวมานับสิบปีแล้ว แต่เขียนไม่ออก รู้ว่าตัวเองไม่ใกล้ชิดเด็กปัญญาอ่อนพอที่จะทำให้คำพูดและการกระทำของเขา มันออกมาได้อย่างที่ต้องการ”
บทละครในฝันของคุณหญิงนี้ เป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีลูกสาวปัญญาอ่อน แสดงให้เห็นความรักของแม่ ที่ทำทุกอย่างเพื่อช่วยลูกคนนี้ให้เติบโต และอยู่ในสังคมให้ดีที่สุด เท่าที่สภาพของเธอจะเอื้ออำนวยให้ แม้จะมีทั้งความเข้าใจและความขัดแย้ง จากสมาชิกคนอื่นในบ้าน ที่บางครั้งก็ไม่สามารถยอมรับสภาพที่แม่ละเลยหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อลูกที่ปัญญาอ่อนเพียงคนเดียว แต่ในที่สุดเมื่อวิกฤตการณ์ในชีวิตวัยสาวของเด็กคนนี้มาถึง ทุกคนในครอบครัวก็หันกลับมาร่วมกันต่อสู้อุปสรรค เพื่อช่วยเหลือคนที่เขารัก
“ดนตรีจะเป็นสื่อสำคัญ คืออารมณ์ของเธอจะออกมา ในทำนองเพลงง่ายๆ เพลงหนึ่ง ที่เธอเล่นเปียโน ขึ้นอยู่กับวิธีเล่นของเธอ แต่ในตอนจบเธอจะเล่นทำนองใหม่ที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน”
ความสามารถในการรจนาบทกวีภาษาอังกฤษยังเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่หลายต่อหลายคนชื่นชม
“เขียนมานานแล้ว แต่ไม่สม่ำเสมอ ช่วงแรกๆ ไม่ได้เขียนให้ใครอ่าน ที่เขียนก็เพราะเขียนแล้วมีความสุข ถ้ากำลังมีทุกข์สีสันของทุกข์มันก็เปลี่ยนไป สว่างขึ้น มันเกิดคำตอบให้ตัวเอง เวลาเขียนบรรทัดแรกน่ะไม่เคยรู้หรอกว่าบรรทัดสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ความคิดมันพาไปเอง มีอารมณ์ มีกระดาษ มีปากกาก็เขียน เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์แล้ว (หัวเราะ) มาเดี๋ยวนี้ บางครั้งก็เขียนเพราะมีหลายคนบอกให้เขียน ก็เลยขยันขึ้น
"การใช้ภาษาร้อยแก้ว หรือภาษากวีนี่มันแล้วแต่เรื่อง หนังสือที่กำลังจะออกมา (On the White Empty Page) มีทั้งสองอย่าง มีร้อยแก้ว 5 บทเท่านั้น ภาษากวีมันอิสระกว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นการสื่อสารกับคนอื่น สื่อกับตัวเองหรืออะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน มันอาจจะเหมือนคลื่นวิทยุกระจายเสียง ที่ไม่มีใคร
เปิดเครื่องรับฟังก็ได้”
แต่ถ้าใครจะเปิดรับฟัง ‘คลื่นเสียง’ ของคุณหญิง ก็จะมีโอกาสพบและฟังเธออ่านงานของเธอในวันพฤหัสที่ 21 กรกฎาคม ที่ห้องไลแบรรี่ โรงแรมดุสิตธานี จากทุ่มครึ่งถึงสามทุ่ม
ในฐานะที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาวรรณคดี มีลูกศิษย์ถามเสมอว่า บทกวีมีความหมายอะไรในชีวิตปัจจุบัน
“ตอบไม่ถูกหรอกค่ะ ได้แต่บอกว่ามันกลั่นออกมาจากส่วนลึกของคน กลั่นจากข้างในและจากความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอก มันก็คงจะต้องมีความหมายในชีวิตไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันหรือในสมัยไหน แค่บอกเขาไม่ได้หรอก ต้องอ่านกัน คุยกัน ถ้าเขาเอาไปคิดต่อเขาก็จะเป็นผู้เห็นเอง เข้าใจเอง เขาจะได้ยินจังหวะ ทำนอง เห็นภาพพจน์ เกิดความคิด ความเข้าใจก็จะลึก การสัมผัสของเขาก็จะขยายออกไปได้ไกลลิบเชียว ไอ้ความคิด ความเข้าใจ การสัมผัส จินตนาการ อะไรๆ เหล่านี้ มันไม่มีความหมายในชีวิตหรือ”
ชีวิตของ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน นั้น มองผาดเผินก็จะเหมือนกับชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเธอเกิดมาในตระกูลที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่ง คือตระกูล 'ล่ำซำ' หากจะมองในแง่หนึ่งก็จะพบว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ที่ต่อสู้และขวนขวายเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ใจรัก
คุณหญิงถูกส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 12 ขวบ พอเรียนจบชั้นมัธยม คุณจุลินทร์ ล่ำซำ ผู้เป็นพ่อก็ให้กลับ เพราะอยากให้กลับมาทำงานช่วยทางบ้าน มากกว่าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอย่างที่เธอปรารถนา
กลับมาอายุ 18 ปี เข้าจับงานในแผนกชิปปิ้งบริษัทล็อกซเล่ย์ แต่วันหนึ่งในงานเลี้ยงบนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา คุณหญิงก็ได้พบกับดาเรล แบริแกน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ จากคำท้าทายของชาวอเมริกันผู้นี้ เธอก็เขียนบทความเกี่ยวกับความรู้สึกในวัยเด็กที่มีต่อหัวหิน ส่งไปให้เขาตีพิมพ์และทั้งๆ ที่คุณพ่อไม่เห็นชอบด้วยนัก แต่ในที่สุดก็ได้เป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว
ด้วยวัยเพียง 18 ปี เธอได้เป็นบรรณาธิการข่าวสตรีและสังคมของบางกอกเวิลด์ เมื่อสมัยที่ยังเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า
หลังจากมีครอบครัวแล้ว คุณหญิงทิ้งงานหนังสือไปกว่า 15 ปี เพื่อเลี้ยงลูกสี่คนจนกระทั่งอายุ 38 ปี จึงสมัครเป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อให้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตามที่ตั้งใจหวังนานมาแล้ว เธอจบการศึกษาและได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่ออายุ 42 ปี

ทุกวันนี้คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ใช้ชีวิตสมรสกับนายแพทย์อุทัย รัตนิน พร้อมด้วยบุตรชายหญิงสี่คน คือ สรรพัฒน์ วรัดดา อโนมา จิตรจารี และจตุพร ผู้เป็นหลานแต่คุณหญิงได้เลี้ยงดูประดุจลูกชายคนโต กิจกรรมหลายหลายของเธอ มักจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและศิลปะแขนงต่าง ๆ
คุณหญิงยิ้มน้อย ๆ ในขณะที่กล่าวว่าชีวิตครอบครัวกับลูกๆ ก็เหมือนมาลัยหลากสี เพราะลูกแต่ละคนก็มีลีลาสีสันต่างๆ กัน เช่นเดียวกับผู้คนอื่นในสังคม เด็กปัญญาอ่อนก็เป็นดอกไม้ในมาลัยหลากสีเช่นกัน ดอกไม้แต่ละดอก แต่ละสี ย่อมมีความงามมีคุณค่าเฉพาะของตัว แม้บางดอก บางกลีบ อาจจะด้อยกว่า
ดอกอื่นไปบ้างก็ตาม
ว่าไปแล้วศิลปินที่จะมาร่วมรายการคอนเสิร์ต ‘มาลัยหลากสี’ ซึ่งคุณหญิงจำนงศรีกำลังช่วยร้อย ในฐานะกรรมการฝ่ายการแสดงนั้น แต่ละคนก็เป็นเสมือนดอกไม้หลากสีที่มารวมกันเป็นมาลัย เพื่อศิลปะที่เขารัก และด้วยน้ำใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ที่อาภัพนั่นเอง
จาก: คอลัมน์ ข่าวในคน นิตยสาร ลลนา ฉบับที่ 373 ปักษ์แรก กรกฎาคม 2531
Comments