ลม หาย ใจ ของไหมไทย
- Chamnongsri Hanchanlash
- 16 พ.ค. 2566
- ยาว 3 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ค. 2567
อีแร้ง

ภาพ: Xuân Tuấn Anh Đặng
ลมโรยริ้วมาอย่างนุ่มนวลเสียง Clarinet เดี่ยวสำเนียงออกมาอย่างสุภาพเมื่อแรกได้ยิน
อากาศเย็นชื้น และความแจ่มใสก็เผยตัวตามมา – เสียงคลอของไวโอลินกลุ่มเล็ก เกาะเกี่ยวตามมาเหมือนเงาจาง ๆ
ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มเริงรื่น และแสงแดดก็สาดส่องไปทั่ว – เสียงเครื่องสายกลุ่มใหญ่พลิกพลิ้วและกระหวัดท่วงทำนองให้กระหึ่ม กระพือให้อารมณ์หลุดมาติดๆ
แสงสะท้อนจากระลอกน้ำเริ่มมีให้เห็น เป็นประกายสีวิบวับ – เครื่องเป่าพวก Horn และ Basson เปล่งเสียงและผันทำนองให้อ้อยอิ่งลง
ทุ่งหญ้า นาข้าว เต็มกว้างเป็นแผ่นเขียวไปทั่วผืนดิน – เสียงของ Cello และ Flute ช่วยสอดแทรกและส่องเครื่องสายทั้งวงให้เปล่งพลังออกมาอย่าเต็มเสียง
ภาพทั้งหมดเริ่มรวมกันเป็นความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งนา ที่มีต้นข้าวระดับใบสีเขียวไปจนสุดสายตา ขอบฟ้าเป็นสีสดใสและแสงแดดส่องสว่างแจ่มจ้า – ทั้งเครื่องสายและเครื่องเป่าเริ่มส่งเสียงหยอกล้อและไล่เรียงกันในทีเล่นทีจริง มีการเว้นจังหวะให้เพลิดเพลินในช่วงนี้ด้วยเสียงใสกระจ่างของ Harp
ลมริ้วหวนกลับมาอย่างอ้อยอิ่ง ชีวิตทั้งหลายต่างก็อิ่มเอม – เสียง Clarinet กลับมานำอีกครั้ง แล้วทั้งวงก็โหมตาม
ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ แสงสว่างเริ่มจางลง สีเขียวเหลือกลายเป็นมัวเข้ม แต่กลิ่นไอของธรรมชาติก็ยังคงอยู่ – ไม่รู้จาง-เสียง Horn โหยอ่อนลง และ Harp ก็พลิ้วส่งท้าย ยืนยันความแจ่มใส
นั่นคือเพลงที่ชื่อ ‘ทุ่งแสงทอง’ แต่งโดย ดนู ฮันตระกูล เมื่อพ.ศ. 2529 บรรเลงโดยวง ‘ไหมไทย’ ที่ควบคุมโดยประทักษ์ ประทีปะเสน เป็นเพลงนำในเทปดนตรีบรรเลงชุด ‘ไหมไทย 2 ’ ที่ออกวางจำหน่ายในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว
ผมเคยยืนยันอยู่เสมอว่า การฟังดนตรีบรรเลงแบบเครื่องสายวงใหญ่ของฝรั่งนั้น อารมณ์ที่เรารู้สึกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราไม่จำเป็นที่จะต้องมองเห็นภาพน้ำตก, นกบิน หรือแสงสีอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราไม่รู้สึกอย่างนั้น
แต่เพลงไพเราะที่ยิ่งใหญ่ของคีตกวีระดับโลกทั้งหลายของเรา (โลกของเราทุกคนนะครับ ไม่ใช่ของเฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง) มักจะทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วม ที่คล้อยตามและคล้ายกันเสมอ เพราะเขาแต่งได้ลึก และจับใจของมนุษย์ทั่วไปได้ เขาสามารถทำเสียงที่เรารับรู้และจับต้องได้ถึงอารมณ์นั้น ๆ
นั่นคือเสียงดนตรี และนั่นคือความเป็น ‘สากล’
เมื่อแรกได้ฟัง ‘ทุ่งแสงทอง’ ของดนู ฮันตระกูล ผมรับได้และให้คะแนนเขาผ่านทันที
ความรู้สึกแรกที่อารมณ์รับได้จากทุ่งแสงทอง คือ วิญญาณของความเป็นไทย ท่วงทำนองของเพลงไทยเดิมนั้น เด่นชัดและจะแจ้ง
ผมเชื่อว่ามันทำได้ยากแต่เขาก็ทำได้สำเร็จ นี่มันใช่เพราะว่าเขาเป็นคนไทย แต่เพราะผมจะคุยกับเขาเลยไปถึงคำว่า ‘สากล’ ในดนตรีไทยแท้ของเรา—
“ผมชอบทุ่งแสงทอง แต่ผมรู้สึกว่ามันอืดไปหน่อยในบางตอน” ผมเริ่มบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่งใต้ร่มตาเบบูย่า
“ดี ดี แต่ถ้าคุณชี้ชัดออกมาได้ตรงไหนมัน...ไม่กระชับ...เราก็จะได้มาพิจารณาว่า จะพัฒนาให้มันดีขึ้นได้ไหม” ดนูพูดช้าและชัด และจะเลือกใช้คำพูดที่เป็นกลางอยู่เสมอ
“คือผมเห็นด้วยกับคุณนะ ที่พยายามพัฒนาดนตรีไทยเดิมของเราที่ขาดตอนไปนาน ให้กลับมาเป็นที่นิยมและก้าวไปสู่ระดับสากลให้ได้ เราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะชื่นชมอยู่แต่กับผลงานเก่าๆ จนหลงใหลได้ปลื้มถึงขนาดยอมตายไปกับมัน และไม่ลืมตาอ้าปากสร้างงานใหม่ๆ ออกมาให้ลูกหลานเลย ตอนที่อาจารย์เพลงเก่าๆ ของเราท่านแต่งออกมานั้น มันก็ล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์งานใหม่นั้นแหละ”
ดนูหัวเราะในความช่างพูดของผมเหมือนทุกครั้ง แล้วก็เหมือนทุกครั้ง คือเขามักจะให้ความคิดเพิ่มเติมเสมอ
“ไอ้ดนตรีโบราณของเรานี่ มันดี ดีมากด้วย แล้วก็มีการสร้างและพัฒนาแล้วตลอด แต่บังเอิญมันมาหยุดเอาดื้อๆ ตอนที่อารยธรรมและวัฒนธรรมตะวันตกมันหลั่งไหลเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมไม่รู้นะว่าเพราะอะไร คุณลองไปถามผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ดนตรีไทยก็ได้ แล้วก็...”
ลมพัดมาเบาๆ เสียงใบไม้พลิกกระทบกันดังสบายหู ดนูเอามือเสยผมสลวยที่ลุ่ยมาปรกหน้า แล้วพูดต่ออย่างตั้งอกตั้งใจ
“เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีคนพยายามอนุรักษ์กัน สถาบันและหน่วยราชการหลายแห่ง ก็พยายามอนุรักษ์กัน แต่ไม่มีใครช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเลย ไอ้ที่ล่าสุดก็เห็นมีแต่ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะและครูมนตรี ตราโมทเท่านั้น
ผมเชื่อว่าคนไทยยังรักเพลงไทย และยังอยากฟังเพลงไทยอยู่ ถ้าเราสามารถพัฒนาดนตรีไทยต่อไปเรื่อยๆ จนถึงระดับสากล และโดยที่ยังสามารถรักษาคุณค่าเดิม หรือเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ก็ได้...เอ้า...”
“หมายความว่า ยังคงฟังอืดอาด ยืดยาด และเล่นกันเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะ โดยที่เด็กรุ่นใหม่นี่มันไม่สนใจเลยน่ะรึ?”
“ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ผมจะอธิบายให้คุณฟังอย่างไรดี เออ...ก็อย่างที่วงไหมไทยของเรากำลังทำอยู่ไง เราใช้เครื่องดนตรีฝรั่งมาบรรเลง แต่ก็ยังรักษาวิญญาณของความเป็นไทยเอาไว้ได้ คนก็มีโจมตีด่ามาว่า เราทำลายดนตรีไทย แต่คนที่ไม่ชอบดนตรีไทยกลับเริ่มสนใจฟังและก็เริ่มชอบ
เราเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ โดยที่เจ้าของเพลงและอาจารย์ดนตรีไทยหลายท่านก็เห็นด้วย
ผมว่าถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันก็คงต้องพัง ต้องเลิกไปเองแหละ แต่นี่เด็กรุ่นใหม่ก็เริ่มฟังกันได้ ไม่เชยแล้วนะ และเทปไหมไทย 2 ก็ขายได้ไม่ขาดทุนแล้ว”
“ไอ้เรื่องเรียบเรียงเพลงไทยเดิมใหม่นี่ ผมชอบมาก มันเท่ากับยื่นให้ประชาชนคนฟังตัดสินว่าเป็นไง คุณทำลายของเก่า หรือสร้างสรรค์ให้มันเป็นการพัฒนาต่อเนื่อง?”
ผมพูดไปตามความรู้สึกจริง ไม่ได้พูดเอาใจเพื่อหวังว่าเขาจะเลี้ยงข้าวมื้อนี้และก็เลยน้ำลายแตกฟองต่อ
“อย่างเพลง ‘ทะยอยญวน’ ที่คุณประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา เป็นคนเรียบเรียงใหม่น่ะ ฟังได้อารมณ์และรื่นหูดีจัง ไม่มีความอืดอาดหรือน่าเบื่อหน่ายเลย โดยเฉพาะการที่ครูบุญยัง เกตุคง มาเดี๋ยวขิมนั้น มันน่าชื่นชมและอวดชาวโลกจริงๆ
แล้วก็ – อีกเพลง เพลงอัศวลีลา ของ ครูมนตรี ตราโมท ที่ให้คุณประทักษ์เรียบเรียงใหม่ ผมว่ามันออกสากลจ๋ามาก คือฝรั่งฟังแล้วชอบ โดยแทบจะไม่เชื่อเลยว่ามันคือเพลงไทยเดิม
ก็แสดงว่าเรายังมีคนมีฝีมือทางนี้อีกเยอะแยะ เพียงแต่ผู้ที่มีกำลังทั้งหลายจะร่วมสนับสนุนและพัฒนากันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง
แล้วเพลงไทยสากลยุคเราหรือยุคพ่อที่เพราะๆ และเริ่มเก่าแล้วล่ะ ทำไมไม่ลองเอามาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นสากลดู คงจะฟังง่ายและฟังมันมากขึ้นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพราะเขาก็แต่งเป็นทำนองสากลอยู่แล้ว น่ะ?”
“อ้า – พอดีเลย” ดนูยิ้มกว้างและส่งประกายออกมาจากนัยน์ตาเหมือนเห็นผมตกหลุม

“เราทำเสร็จแล้ว และจะเสนอให้คอนเสิร์ต ‘มาลัยหลากสี’ ที่โรงละครแห่งชาติ ในวันที่ 11 และ 15 กรกฎาคมนี้หละ มีทั้งเพลงบรรเลงไทยเดิมเรียบเรียงใหม่ตามแบบของไหมไทย และก็เพลงไทยสากลเก่าๆ อย่างที่คุณว่านี่แหละ
ผมบอกได้เลยว่ามีเพลงวิหคเหิรลม ของ สมาน กาญจนผลิน เพลงขวัญเรียม ของ พรานบูรพ์ และเพลงเมื่อวานนี้ ของ สง่า อารัมภีร์
นอกจากนี้ก็ยังมีคุณจรัล มโนเพ็ชร มาร่วมร้องเพลงอุ๊ยคำ และล่องแม่ปิง แบบเรียบเรียงใหม่อีกด้วยเจ้าของเพลงทุกท่านไม่ขัดข้อง และเห็นดีด้วย”
“ฮะ – ก็ดีน่ะซี่ จะได้ฟังกันให้อร่อยหูไปเลย นี่เหมือนสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง สำหรับการพัฒนาดนตรีของไทยเลยนะ”
“งานนี้ต้องยกเครดิตให้กับ คุณหญิงจำนงศรี รัตนินด้วย เพราะท่านคือผู้วิ่งประสานงาน จนการจัด
คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ทางโรงเรียนดนตรีศศิลิยะของเรา จัดร่วมกับศูนย์ฝึกเด็กปัญญาอ่อน ประภาคารปัญญา ของมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโดยมีบริษัทโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) เป็นเจ้าภาพร่วม คุณช่วยบอกขอบคุณเขาได้ไหม งานสร้างสรรค์อย่างนี้ หาเจ้าภาพร่วมเข้าใจยากจริง ๆ”
“ช่วยเด็กปัญญาอ่อนรึ ก็ดีเหมือนกัน...”
“ดีมากเลยแหละ” ดนูรีบพูดอย่างขึงขังจนผมแปลกใจ
“คุณรู้ไหมว่าประเทศไทยมีคนปัญญาอ่อนถึง 5 แสนคน แต่รัฐบาลช่วยดูแลได้แค่ 5 พันคนเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแพงมาก คนดูแลก็ต้องเรียนพิเศษ และเก่งเป็นพิเศษด้วย และคนปัญญาอ่อนที่ไม่มีคนช่วยเหลือนั้น สร้างภาระให้กับสังคมมากมาย เช่น...”
“เดี๋ยว...หยุดก่อน...ผมเข้าใจ แต่คุณไปคุยกับท่านผู้ว่า ก.ท.ม. ไม่ดีกว่ารึ ท่านอาจจะหยุดประท้วงกฎหมายทำแท้งก็ได้”
“อะไรนะ? ผมไม่เข้าใจ”
“ช่างเถอะ” ผมลืมนึกไปว่าดนูเขาใช้เวลาอยู่กับเสียงดนตรีมากกว่าอยู่กับข่าวคราวของบ้านเมือง
“คุณหญิงจำนงศรี นี่ใช่ไหม ที่เคยอ่านบทกวีที่ประกอบเพลงของคุณเมื่อครั้งรายการ ‘ลมหายใจกวี’ เมื่อปีที่แล้ว?”
“ใช่ แล้วคราวนี้เราก็จะเอารายการนี้กลับมาเสนออีกครั้งหนึ่ง รวมในรายการมาลัยหลากสีนี่แหละ”
“โอ้โฮ นี่ก็ตั้ง 3 รายการเข้าไปแล้ว คุ้มเป็นบ้า ทำไมถึงคิดเอาลมหายใจกวีกลับมาเสนออีกครั้ง?”
“ผมยังเชื่อว่านี่เป็นมิติใหม่ของวงการกวีของไทยนะ คือบรรดากวีทั้งหลาย เขาย่อมอยากจะให้บทกวีของเขาได้รับการอ่าน นอกเหนือไปจากการตีพิมพ์ และเมื่อบทกวีได้รับการอ่าน มันก็สื่อความหมาย และให้ความรู้สึกที่แปลกออกไปอีกอย่างหนึ่ง เราได้ลองดูมาเมื่อครั้งที่แล้ว ผลออกมาน่าสนใจมาก”
“เดี๋ยวๆ” ผมยกมือเดี๋ยวบ้าง ก่อนที่เขาจะแสดงความคิดเห็นออกมาจนหมด
“ผมขอทักท้วงตั้งแต่ตรงนี้ก่อนว่า การอ่านบทกวีไม่ใช่สิ่งใหม่ในประเทศไทย ผมว่าการขับร้องบทเสภาก็เป็นการอ่านบทกวีอย่างหนึ่ง เหมือนกับลิเก ผมว่ามันคือละครเพลง ละครร้องแบบพื้นบ้านนั่นเอง”
“เอ...ท่าจะใช่แฮะ” ดนูทำหน้าซีเรียสจนเหมือนแกล้งจะให้ผมตกหลุมอีกสักอั้ก
“แต่ในกวียุคของเรานี้ ผมว่ามันเป็นการอ่านจริงๆ เป็นการเปล่งเสียงออกไปให้คนฟังได้รับโดยตรง ผู้ฟังเหมือนกับว่าได้สัมผัสและรับความรู้สึกหรืออารมณ์นั้นทันที มันเป็นการร่วมอารมณ์นั้นด้วยกัน ไม่เหมือนกับการอ่านจากหนังสือเพียงข้างเดียว”
“แล้วถ้าคนอ่านอ่านเฮงซวยหละ หรือเกิดอ่านดี แต่เสียงไม่เข้ากับเรื่อง มันมิยุ่งตายเรอะ?”
“นี่หละคือสิ่งที่เราอยากลอง คราวที่แล้วคุณเนาวรัตน์ (พงษ์ไพบูลย์) ก็อ่านดี แต่การโปรเจ็คเสียงยังไม่ดีพอ คราวนี้เราก็จะซ้อมการเปล่งเสียงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีการซ้อมกับดนตรีอีก เพื่อให้คนอ่านบทกวีได้รู้จังหวะการออกและเข้ากับดนตรีอย่างแนบเนียน”
“เออ...” ผมได้จังหวะค้านอีกหนึ่งตะพีด
“แล้วดนตรีประกอบการอ่านบทกวีของคุณ ถ้ามันมีสีสัน และมีท่วงทำนองติดใจหรือเร้าใจคนฟังมาก มันมิกลายเป็นการบรรเลงดนตรี ที่มีนักร้องร้องเพลงจะล่มมิล่มแหล่มาขึ้นเวทีให้คนรำคาญเล่นรึไง?”
“ฮ่ะ ฮ่ะ” ดนูหัวเราะเหมือนถูกหวย ทั้งๆ ที่ไม่เคยแทงหวย เขาชอบหาจังหวะหัวเราะเยอะผมอยู่ทุกบ่อย
“มันก็ไม่เป็นอย่างนั้นซิ! ผมปรึกษาและทำงานร่วมกับกวีนะครับ อย่างคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นี่เขาก็บอกผมว่าชอบให้ดนตรีประกอบเป็นแบบไหน ผมก็แต่งไปแบบนั้น เขาอ่านนำแล้วผมก็บรรเลงตาม ช่วงไหนเขาอนุญาต ผมก็จะบรรเลงสอดแทรก เป็นการบรรเลงเพลงประกอบการอ่าน ส่งเสริมบทกวีให้เด่นยิ่งขึ้น
ผมว่ามันเป็นการช่วยให้เสนออารมณ์ได้คล่องขึ้นนะ และว่ากันจริง ๆ กวีเองก็ชอบใจ มันเหมือนกับมีใจ ‘เหิน’ ไปสู่คนฟัง มันเป็นมิติอีกมิติหนึ่งหรือเปล่าเล่า?”
“เป็นก็เป็นวะ” ผมคล้อยตามเขา เพราะฟังแล้วน่าสนใจเอามาก ๆ

บทกวีของพี่เนาว์ที่จะอ่านเองวันนั้นก็มี ‘อย่าทำน้ำไหว’ และ ‘ภูหนาว’ พระอภัยมณียุคคอมพิวเตอร์ของเราคงจะกลายเป็นโปรเจ็คเตอร์ก็คราวนี้หละ และบทกวีที่จะเสนออีกบทคือ‘ขอบฟ้าขลิบทอง’ ของอุชเชนี ที่คุณหญิงจำนงศรีจะเป็นผู้อ่านเอง ผมรู้สึกว่าคราวนี้เราอาจจะได้ประสบกับคำว่า ‘ร่าย’ บทกวีที่แท้จริงก็ได้
ลมพัดมาอีกวูบ ใบไม้และเศษเกสรหล่นลงมาบนโต๊ะเรา มีเปลือกไม้เน่าๆ ชิ้นเล็กๆ ร่วงแถมลงมาให้ในแก้วน้ำผม
“คุณมั่นใจในคอนเสิร์ตครั้งนี้สักแค่ไหน?”
“ด้านไหนล่ะ การพัฒนาทางดนตรี หรือรายได้?”
“ทั้งสองอย่างนั้นแหละ”
“ด้านดนตรี ต้องบอกว่าผมพอใจมาก เพราะเราฟิตซ้อมกันพอสมควร ผลงานเก่าๆ เราก็มาปรับปรุงให้พร้อมได้มากขึ้น คือเวลานี้นะ เราไม่ค่อยหวั่นไหวหรือลังเลอะไรสักเท่าไร เรารู้เลยว่าเพลงนี้ ท่อนนี้ หรือเรื่องนี้ ต้องมุ่งไปทางไหน เราก็จะมุ่งไปทางนั้นเลย อย่างดีที่สุด ไม่พะวงหรือห่วงเรื่องอื่น ๆ คุณเรียกว่าเป็นการเจนเวที หรืออะไรนะ...”
“การพัฒนาสินค้า!” ผมตอบอย่างเบื่อหน่ายที่เขาชอบจำมาย้อนคืนแทบทุกคำพูด
“นั่นแหละๆ แต่ในเรื่องดนตรีไทย ไม่ใช่อย่างนี้นะ เราจะไม่พยายามที่จะไปทางใดทางหนึ่งจนสุดโต่ง เราต้องการพัฒนาดนตรีไปทั้งวงจร ซึ่งหมายรวมถึง การแต่ง การเรียบเรียง การบรรเลง การฟัง และการวิจารณ์ด้วย เราจะเสนอแนวดนตรีให้สังคมพิจารณาว่าดีไหม? แล้วเราจะคอยว่าสังคมจะตอบรับหรือยอมรับเราแค่ไหน”
“ทำไมมันยุ่งอย่างนี้นะ?” ผมแกล้งบ่นให้เขากลุ้มใจเล่น
“มันมียุ่งกว่านี้อีก” เขาผ่อนเสียงจนผมตกใจ
“อะไรเหรอ?” ผมเริ่มเป็นห่วงดนตรีไทยของเราเสียแล้ว
“มันยังมีรายการที่ 4 น่ะซี่ ผมต้องเสนอเพลงอีก 3 เพลง คือ ทุ่งแสงทอง, เห่เรือ, แล้วก็เจ้าพระยา เจ้าพระยานี่มันอยู่แค่นครสวรรค์เท่านั้นเอง เพราะผมยังแต่งไม่จบเล้ยย..”
คราวนี้ดนูคงหัวเราะไม่ออกแน่ ๆ และผมก็ไม่อยากรบกวนเวลาเขาจนถึงกับแต่งเจ้าพระยาออกรายการไม่ทัน
ก็จึงขอป่าวประกาศมา ณ ที่นี้ว่า รายการดนตรีไทยเดิม ไทยสากล ไทยร่วมสมัย และดนตรีกับบทกวีที่น่าตื่นเต้นมากทั้ง 4 รายการนี้ เขาจัดรวมกันเป็น คอนเสิร์ต ‘มาลัยหลากสี’
แสดงที่โรงละครแห่งชาติ
วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2531 เวลา 14.30 น. เป็นรอบนักเรียนนักศึกษา บัตร 50, 100 และ 200 บาท
วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2531 เวลา 18.00 น. เป็นรอบใหญ่เต็มที่ บัตรราคา 100, 200, 300, 500 และ 700 บาท
จองบัตรได้ที่ ดวงกลมสยามสแควร์/เอเชีย บุ๊ค/ศูนย์สังคีตศิลป์/บ้านจรัล/ส่วนที่โรงละครแห่งชาตินั้นจองได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม เป็นต้นไป
“เดี๋ยว...อย่าเพิ่งไป” ดนูคว้าแขนเมื่อผมเริ่มคว้ากระเป๋าลุกขึ้น
“ทำไม ผมกินก๋วยเตี๋ยวแค่ชามเดียวเท่านั้น?”
“ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องมันยังไม่จบ”
“งั้นก็ผัดไทยอีกสักจาน” ผมนั่งลงอย่างสบายใจ
“รายการนี้ มีการจัดเวที จัดฉาก จัดแสงสี ประกอบด้วยอย่างเต็มที่ และจะเป็นคอนเสิร์ทที่กลมกลืนต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีเว้นช่วง หรือสะดุด คงจะสนุกกันมาก”
“ไม่ต้องขี้ ไม่ต้องเยี่ยวกันเลยเรอะ?”
“ฮ่ะ ฮ่ะ บ้า!” ดนูหัวเราะอีกจนได้
“เราตามไปจัดแสง – สี – เสียง ให้ในห้องน้ำด้วย คุณนี่! ก็ตามสบาย แต่เราจะจัดพักให้อย่างกลมกลืน คือไม่มีหยุดนิ่ง ๆ ให้เหงา จะมีดนตรีบรรเลงตลอดเวลา แล้วผู้ดำเนินรายการ”
“เขาเรียก พิธีกร!”
“เออ...พิธีกร ก็ได้แก่ คุณจรัล ซึ่งคล่องมาก และเก่งมาก เราจึงเชื่อว่าจะไม่มีการเซ็งเด็ดขาด”
“แล้วเชิญน้องปุ๋ยมารีเปล่า?”
“ปุ๋ยไหน? ใครคือปุ๋ย?”
“คิดเงิน! ผัดไทยไม่เอาแล้ว โธ่เอ๊ยยยย...!!”
จาก: คอลัมน์ บทสัมภาษณ์ฉุกเฉิน นิตยสารดิฉัน ฉบับที่ 273 วันที่ 16 ก.ค. 2531
Commentaires