หมาจิ้งจอกในหัวใจ (2)
- supita reongjit
- 25 ก.ย. 2565
- ยาว 3 นาที
อัปเดตเมื่อ 5 ก.ค. 2567
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
การเดินทางผ่านการเวลา
จาก ‘ฝนตกยังต้องฟ้าร้องยังถึง’
สู่ ‘เจ้าแสดแปดขา’
โดย เพทาย บุษบัน

ปรากฏการณ์ที่นักอ่านทุ่มความสนใจ ให้งานในแนวปูมประวัติชีวิตอลังการ อย่าง 'ดุจนาวากลางมหาสมุทร' ในขณะที่ 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง ' ได้รับความสนใจไม่มากนัก จากสื่อมวลชนและนักอ่านในวงกว้าง ทำให้คุณหญิงรู้ว่า สังคมสนใจเรื่องข้างนอกมากกว่าเรื่องข้างใน นั่นเป็นเหตุให้เธอเสียดายที่ 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง ' ซึ่งเป็นก้าวที่มีความหมายมาก ในถนนวรรณกรรมของเธอ ไม่เป็นที่กล่าวขวัญถึงดุจเดียวกัน ทั้งที่คุณค่า ‘ข้างใน ’ มีความหมายที่อยากถ่ายทอดสืบต่อออกไปอย่างยิ่ง
ก็โชคดีที่ภาพของครอบครัว 'หวั่งหลี' ' ไม่ได้เป็นภาพวิเศษของเทวดาเดินดิน หากเป็นภาพครอบครัวที่มีความเป็นมนุษย์ ต้องต่อสู้ ต้องเจ็บปวด สูญเสียและผ่านสุขทุกข์ ที่ทำให้เห็นชัดถึงความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งปวง ไม่เช่นนั้นแล้ว งานหนังสือเล่มนี้ ซึ่งแต่แรกลงมือทำเพราะความจำเป็นบังคับนั้น คงไม่ช่วยให้คนเขียนได้ภาคภูมินัก
แต่เมื่อเรื่องราวที่เริ่มต้น เพียงความตั้งใจจะทำ photo essay กลายเป็นเรื่องราวอันเต็มไปด้วยสีสัน ที่ทำให้ชื่อเสียง ของ “จำนงศรี รัตนิน” หรือ “จำนงศรี หาญเจนลักษณ์” เป็นที่รู้จัก ในฐานะนักเขียนคนสำคัญขึ้นมาทันที เธอก็รับได้ ทั้งที่เธอเข้ามาเดินท่องไปในซอกเล็กมุมน้อยของโลกวรรณกรรมมากกว่า 30 ปีแล้ว
เป็นการท่องเที่ยวไปด้วยความเพลิดเพลินสำเริงสำราญส่วนตน
บทละครสองเรื่อง บทวิดีทัศน์สารคดี นิทาน และบทกวีหลายชิ้นเกิดขึ้นในช่วงนี้
การเขียนบทวิดีทัศน์ภาษาอังกฤษเรื่องหนึ่งนั้น เป็นงานของ องค์กร UNDP ของ สหประชาชาติ เกี่ยวกับเขตการค้าอิสระแห่งใหม่ของโลก ที่ลุ่มแม่น้ำ Tumen ตรงรอยเชื่อมระหว่างประเทศเกาหลีเหนือ ประเทศรัสเซีย และประเทศจีน เพื่องานเขียนบทครั้งนี้ คุณหญิงต้องเดินทาง จากนครเปียงยางเพื่อขึ้นไปเมือง Rajin – Sonbong จุดเหนือสุดของเกาหลีเหนือ เดินทางโดยรถไฟนาน 23 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากรถไฟระหว่างทางเลย ต้องทำงานร่วมกับทางราชการของประเทศเกาหลีเหนือ เสร็จงานตรงนั้น 3 วัน ก็เดินทางกลับด้วยวิธีเดิม เป็นงานลำบากที่คุณหญิงพบว่าแสนสนุกและน่าสนใจ งานนี้ได้รับการแปลออกเป็น 6 ภาษา และออกโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
บทกวีที่เขียนขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ สวยงามและกลมกลืน ในการสื่อความรู้สึกแบบตะวันออกที่ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ปลาบปลื้มชื่นชมอย่างเห็นได้ชัด ในคำนิยมที่เขียนให้กับหนังสือรวมเล่มกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษ On the White Empty Page ของคุณหญิงจำนงศรีเมื่อหลายปีมาแล้ว
ความรู้สึกแบบไทยของผู้หญิงไทย สื่อผ่านงานกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษหลายชิ้นในเล่มนั้น
นี่คือบทหนึ่งในนั้น :-
Not being a poet
I cannot crystallize
the tenderness, cruelties
and all the intricacies of life
into words whose sweet magic
would sing in your soul
and echo in your heart
Not being a philosopher
and have not the wisdom to tell you
the whys, whats and wherefores
of living and dying
and of all the complexities
of just “being” on this earth
And not being a moralist,
I dare not teach you
to judge your fellows
and condemn their wrongs
for, can one sit in another’s heart
burn with another’s passion
and grope the labyrinth
of another’s private hell?
Being a mere woman,
I can only ask you, a woman–to–be,
to softly sense and tenderly touch
life’s multi-textured realities
and
with a woman’s heart,
try to feel and understand…
Forever try to understand
(จาก A WOMAN TO HER DAUGHTER)
และความงามจับตาสมวัยของเธอ จนใครๆ ก็ทึ่งนักหนา ที่ผู้หญิงคนนี้นุ่งซิ่นไปไหนๆ ได้ทั่วโลกเหมือนชุดเกาหลีที่คนอื่นหลงใหลยินดี ไม่ได้มีข้ออ้างเรื่องความไม่สะดวก ไม่เหมาะสม ไม่ต้องตามกาลเทศะ แม้แต่น้อย
นั่นคือเสน่ห์พราวสะพรั่งที่สัมผัสได้ในด่านแรก ก่อนจะได้ดื่มด่ำกับหัวใจที่รักความเป็นไทยเหลือแสน
รักและหวงแหนธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินเกิด ที่ให้ชีวิตแก่ลูกสาวเจ้าสัว ที่ครั้งหนึ่งเคยหวั่นใจว่า เชื้อสายจีน นามสกุลที่ออกเสียงจีน จะทำให้เธอถูกกีดกันออกจากความเป็นไทยที่หวงแหน และนั่นคือปมด้อยอันใหญ่หลวง
บ้านริมคลองที่สงบ สะพรั่งด้วยธรรมชาติฝั่งน้ำ กับชีวิตอันเรียบง่ายงดงามของคุณยาย ผู้เจ้าบทเจ้ากลอนและถ่ายทอดความรักวรรณคดีให้หลานสาวตั้งแต่เยาว์วัย เหล่านี้ คือความทรงจำฝังใจ ที่ช่วยให้เธอสังเกตเห็นว่า การที่คนไทยเรามีภาษาอันงดงามให้ใช้ได้อย่างฟุ่มเฟือย ส่วนหนึ่งก็เพราะธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่รอบกาย แต่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หยิบฉวยได้ง่ายเสมอนี้ ก็ได้ทำให้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเครื่องรับใช้มนุษย์ ที่ใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย เช่นกัน
“ตั้งแต่อดีตมา ไทยเราไม่เพียงแต่จะมีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ธรรมชาติยังใจดีกับเราเหลือเกิน เราไม่ต้องเผชิญกับฤดูกาลอันวิปริตรแปรปรวนเหมือนบางประเทศ ไม่ต้องทนหนาวอย่างทารุณ ถึงร้อนก็ไม่ร้อนผากแบบทะเลทราย ถึงหน้าฝน ฝนมา ถึงหน้าแล้งฟ้าใส ดอกไม้บานสะพรั่ง... เหมือนเราถูกตามใจมากเหลือเกิน... ไม่เคยได้รับบทเรียนจริงจัง ”
จนลืมเลือนคุณค่าของสรรพสิ่งในธรรมชาติหรือไม่ก็มองข้ามไป
“เมื่อ 130-140 ปีมาแล้ว บรรพบุรุษของหวั่งหลีมาเห็นเมืองไทยเป็นอย่างนี้... เขาจึงเข้ามาตั้งรกราก เขาเห็นเมืองไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นดินเกิดของเขาในภาคใต้ของจีน”
“คนไทยเรายกย่องนับถือธรรมชาติเป็นแม่... บังเอิญแม่คนนี้ตามใจลูกมากไป ลูกก็เลยเอาแต่ขอ ถูกลูกเนรคุณอยู่เป็นกิจวัตร คุณว่าไหม ดูแค่เรื่องน้ำซิ นอกจากทิ้งของเสียสารพัดอย่างลงไปในน้ำแล้ว เรายังติดนิสัยใช้น้ำอย่างเทน้ำเทท่า เห็นไหมคะ...เทน้ำเทท่า...นี้เป็นสำนวนติดปากใช่ไหม เออ... ทำไมล่ะ.... ภาษาสื่อวัฒนธรรมไง เดี๋ยวนี้น้ำก็มีให้แบ่งกันใช้น้อยลง เราก็เลยชักจะเห็นคุณค่าแม่มากขึ้นกันแล้ว ?”
ข้อสังเกตของคุณหญิงดึงคู่สนทนาหลุดเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติทางวรรณกรรมที่ยิ่งคุยยิ่งออกรส
หลายปีมาแล้วคุณหญิงเคยเขียนบทความให้สยามสมาคม ชื่อ “Nature in Service of Literature” (“ธรรมชาติรับใช้วรรณกรรม”)
ใช่เลย ! ความมั่งคั่งของธรรมชาติทำให้คนไทยนำความสะพรั่งสมบูรณ์ของธรรมชาติ มารับใช้ฝีมือมนุษย์ได้อย่างอลังการ รวมถึงในด้านวรรณกรรม
“ดูอย่างบทอัศจรรย์ในวรรณคดี อย่าง ลิลิตพระลอ ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ซิ เป็นการเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบมาเปรียบเทียบ ปรุงรสฉากที่ไม่อยากบรรยายตรงๆ ได้รสชาติทั้งละเอียดอ่อน ทั้งเข้มข้นเร้าใจกว่าบรรยายตรงๆ เป็นไหนๆ”
วรรณคดีจากอดีตเกือบทุกเรื่อง เป็นแบบฉบับที่ชัดเจนของการใช้ธรรมชาติ มาพรรณนาความงามและเปรียบเปรย
“แต่ให้ความสำคัญกับฝีมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาตินะ อย่างบทชมดง บ่อยครั้งเราจะพบว่า ตัวละครชมธรรมชาติว่างามเหมือนประดิษฐ์ ในลิลิตพระลอตอนนางรื่นนางโรยลงเขา กลับจากหาปู่เจ้า ก็หันกลับไปชื่นชมยอดไม้ที่ลดหลั่นลงมาว่า งามเหมือนปราสาทราชวัง ถ้าจำไม่ผิดนะคะ มีอีกเยอะในวรรณคดี ประเภทชมป่าตรงนั้น ตรงนี้ ว่าราบเรียบเหมือนสวนแต่ง แต่ไม่เห็นชมสวนหรือปราสาท ว่างามเหมือนป่านะ แล้วก็บ่อยที่เอาชื่อนก ปลา หรือดอกไม้ มาเรียงร้อยกันไพเราะมากเป็นวรรณศิลป์ เช่น หอมกลิ่นมณฑาสารภียี่หุบ อะไรอย่างนั้น จริงๆ แล้วบานกันคนละฤดู”
ในด้านอื่นเล่า
“ร้อยเรียงเหมือนร้อยมาลัย... คุณดูสิ พวกมาลัยของเรา... ยิ่งกว่านั้น ช่างดอกไม้เก่งๆ ของเราเอาดอกไม้มาเด็ดกลีบออกจนหมดสภาพความเป็นดอกไม้ แล้วเรากลับนำมาทำเป็นดอกไม้ใหม่อีก เพราะคนไทยเราภูมิใจในฝีมือมนุษย์มาก เอาดอกพุดมาร้อยเป็นตัวหนูได้สวยกว่าดอกพุด สวยกว่าหนู" (หัวเราะ)
นอกจากเขียนงานของตัวเองแล้ว คุณหญิงได้เคยแปลวรรณกรรมและวรรณคดีไทยจำนวนมาก เป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งได้สัมผัส
“การเด็ดกลีบดอกกุหลาบอย่างระมัดระวัง มาร้อยใหม่เป็นดอกกุหลาบ นั่นแหละคือการแปลงานวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานกวี”
คมคาย ช่างคมคายนัก
คุณหญิงยิ้มเยื้อนอยู่ตลอดเวลา ที่ประโยคพรั่งพรูนำคู่สนทนาเดินทางเข้าสู่โลกของเธอ ลึกเข้าไปเรื่อยๆ
เธอช่างน่าสนใจ น่าติดตามและค้นหา มากกว่ารู้จักเธอผ่านๆ ในงานเขียน
นี่คือเส้นทางวรรณกรรมในเสี้ยวส่วนของชีวิต คนอ่านต้องรู้จักควบคู่ไป ในระหว่างพินิจเนื้อหาและสไตล์การนำเสนอของ 'ดุจนาวากลางมหาสมุทร '
ในระหว่างทางนั้น เมื่อเธอเดินเข้าไปข้างในตัวเอง พร้อมกับ 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง ' โดยไม่ได้ตั้งใจ จะค้นหาอะไร กลับพบว่า ตัวเองได้กลายเป็น 'โคลัมบัส ' ผู้พิชิตโลกใหม่ คือโลกภายใน โลกอันดิ่งลึก
การค้นพบนั้นได้หล่อหลอมให้ก่อเกิด จำนงศรี รัตนิน คนใหม่ ในความรู้สึกใหม่ ดุจเดียวกับการเกิดใหม่ ในร่างเดิม ของคนเดียวกัน
คุณหญิงจำนงศรีตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดในการมองคนไทยผ่านวรรณกรรมเข้าไปหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เธอเห็นว่า เมื่อธรรมชาติใจดีกับคนเหลือเกิน คนก็เลยพลอยตามใจตัวเองในการใช้ชีวิตด้วย
“พูดถึงสิ่งแวดล้อมนี่ ดิฉันมักจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ”
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามิติทางความคิดอันล้ำลึกของคุณหญิงจำนงศรี ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมในหมู่ฆราวาส มักเริ่มต้นคล้ายๆ กัน คือการแสวงหาหนทางพ้นจากปัญหาหรือความทุกข์
มองภาพรวมของชีวิต ใครๆ อาจจะเข้าใจว่าคุณหญิงคงประสบความทุกข์แสนสาหัส เมื่อสูญเสียอดีตสามี นายแพทย์อุทัย รัตนิน จึงต้องเข้าวัด และผลผลิตจากสามเดือนในสวนโมกข์ ก่อเกิดการบันทึก ที่มากลายเป็นกวีนิพนธ์เล่มหนึ่ง 'ฝนตกยังต้อง ฟ้าร้องยังถึง '
ข้อเท็จจริงหาใช่เช่นนั้น คุณหญิงแบกทุกข์ในหัวใจเปี่ยมแปล้ ตั้งแต่ครั้งที่คุณหมอยังมีชีวิต ฉะนั้น ความตายของผู้ใกล้ชิด ไม่ใช่แรงผลักดันจากบ้านให้เข้าวัด แต่เป็นแรงผลักดันของตัวเอง โดยเธอเข้าไปมองผ่านธรรมชาติเพื่อหาสัจธรรม ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมิใช่สิ่งแวดล้อมทางสังคม
กวีนิพนธ์เล่มนี้จึงน่าสนใจในตัวมันเองอย่างยิ่ง ด้วยเป็นบันทึกการเดินทางเข้าข้างใน ในรูปความเรียงที่...ใช้คำอย่างอิสระและเขียนอย่างอิสระ ไม่พะวงกับสัมผัสของฉันทลักษณ์ ปล่อยให้มันซื่อตรงกับ “ผัสสะ” ทางใจกับสิ่งที่กระทบกับอายตนะอื่น เรื่องราวคือความรู้สึกนึกคิด ที่แวบขึ้นเหมือนประกายฟ้า แวบเดียวแต่ยังจดจารึก มีฉากสวนโมกข์ผุดพรายอยู่ในหลายบท
(ไหมฟาง, มติชนสุดสัปดาห์ ศุกร์ 10 กรกฎาคม 2535)
บันทึกส่งท้ายในหนังสือกวีนิพนธ์ คุณหญิงก็สารภาพความในใจเอาไว้ เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียด ของเรื่องราวเท่านั้น
“ในปี พ.ศ. 2532 ข้าพเจ้าถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุ่มร้อนและแก้ไขยาก แรกๆ ก็ต่อสู้ ต่อมาพยายามคิดหาทางออก เมื่อไม่สำเร็จ ทั้งการต่อสู้และการหาทางออก ก็กลับกลายมาเป็นการนึกคิดที่เวียนวนไม่รู้หยุด ถึงตรงนี้ข้าพเจ้าได้ทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกขอบใจตัวเองมาจนทุกวันนี้ คือตัดสินใจออกไปให้ไกลญาติ ไกลเพื่อน ไกลบ้านเรือน เพื่ออยู่ป่า อาศัยวัด ไม่ใช่เพื่อหนีปัญหา แต่เพื่อฝึกจิตสร้างความเข้าใจที่จะช่วยให้จิตใจเยือกเย็น พอที่จะกลับมาจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเมตตากับทั้งตัวเองและคนอื่น”
ช่วงแรก คุณหญิงจำนงศรี เข้าฝึกอบรมอานาปานสติที่ สวนโมกข์นานาชาติ ก่อน ในป่าสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ที่โอบล้อมด้วยทิวเขา มีธารน้ำร้อนไหลผ่าน อบอุ่นด้วยชีวิตของส่ำสัตว์ นก ผีเสื้อ มด แมง กบ เขียด และ งูนานาชนิด ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ฉันมิตร เป็นหนึ่งเดียวในวังวนแห่งการแสวงสุขและหลีกทุกข์ในความไม่เที่ยงแท้ทั้งปวง
จากนั้นค่อยเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ที่ สวนโมกขพลาราม ที่อยู่ห่างออกมาราว 2 กิโลเมตร
การปฏิบัติด้วยการไม่พูดทางปาก กลับกระตุ้นใจให้สื่อตัวอักษรออกมาไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก ที่ใจยังวุ่นวายเหมือนสัตว์ที่เปี่ยมเขี้ยวเล็บวิ่งพล่านในกรงขัง มีเพียงป่าแวดล้อมที่สงบงามอย่างยิ่งเท่านั้น ที่ทำให้มันเชื่องลง
“สวนโมกขพลารามร่มครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ เสียงสัตว์ป่าดังชัดอยู่รอบตัว ที่นี่ข้าพเจ้าได้พบแมงป่องช้างตัวเท่าฝ่ามือผู้ชายเป็นครั้งแรกในชีวิต นอกจากนั้นยังอยู่ร่วมบ้านกับแมงมุมตัวมหึมา ตุ๊กแกขนาดวัดหัวถึงหางได้ยาวร่วมฟุต ไม่นับหนูตัวโตๆ ที่วิ่งเข้านอกออกในเป็นว่าเล่น ที่นี่ข้าพเจ้าได้คุ้นเคยกับหมาแมวจำนวนมาก ที่ถูกนำมาปล่อยวัด สัตว์ที่ไม่มีผู้ใดต้องการเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการดึงเอาการเกิด การแสวงหา การรัก อิจฉา ผูกพัน ตลอดจนความเจ็บและความตายเข้ามาใกล้ ให้รู้ชัดถึงใจ ข้าพเจ้าเองก็วนอยู่ในวงเวียนเดียวกันนี้ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ชีวิตข้าพเจ้าดูไม่สำคัญอย่างเอกอุ อย่างที่เคยรู้สึกในเมืองหลวง เมื่อความสำคัญของชีวิตงวดลง ความทุกข์จากปัญหาของชีวิตก็ลดถอยลงตามสัดส่วน ใจก็นิ่งขึ้น ทำให้การฝึกสติง่ายขึ้นกว่าเดิม”
ที่สวนโมกข์ยังมีสระน้ำที่อาจารย์พุทธทาสได้ขุดไว้ เรียก “สระนาฬิเก” ตามเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่ทางปักษ์ใต้ ที่มีเนื้อร้องถึง มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเนอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ไปถึงแต่ผู้พ้นบุญ...
มะพร้าวนาฬิเก จึงเป็นสัญลักษณ์ของ พระนิพพาน ที่ไม่ใช่สถานที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ในใจมนุษย์นั่นเอง ใจมนุษย์เปรียบเสมือนทะเลขี้ผึ้ง ที่ผันแปร เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวอ่อน เดี๋ยวแข็ง ผู้พ้นบุญคือผู้ไม่ยึดติดกับอะไรแม้กระทั่งบุญ จึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้ เมื่อคุณหญิงยังอยู่ในสภาวะของผู้ไม่พ้นบุญ ฝนตกจึงยังต้อง ฟ้าร้องก็ยังถึง
คุณหญิงมีทรรศนะว่าคนเราจะแก้ปัญหายากมาก ถ้าไม่มองย้อนลึกเข้าไปให้เข้าใจตัวเราเองเสียก่อน
“ในที่สุดดิฉันก็ถึงจุดที่สามารถเผชิญปัญหาได้ โดยไม่มีความวุ่นวายเกินไป แม้ภายนอกมีปัญหาเท่าเดิม แต่ภายในเย็นลง มีระเบียบขึ้น ทำให้เราจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยไม่เจ็บตัว ไม่เจ็บใจ ยิ่งกว่านั้นคือ เราได้เรียนรู้และเข้าใจ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้ด้วยสมอง แต่เรียนรู้ด้วยใจ สำคัญตรงนั้น เรียนรู้ที่ใจว่า เราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้นเอง”
ใช่ ! มนุษย์ก็คือธรรมชาติ มีอยู่ มีตาย ปัญหาต่างๆ นั้นสามารถเลือกได้ว่าจะตายเพราะมัน จะบ้าเพราะมัน หรือไม่ และเมื่อผ่านไปได้ แล้วมองย้อนกลับมา ก็จะเหมือนภูเขาใหญ่ที่ก้าวข้ามมาได้ ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสอีกต่อไป
บทสนทนาพาเราเข้าวัดไปไกลถึงเส้นทางธรรม และการบรรลุบุญด้วยวิธีการต่างๆ นานา
“ตามหลักพุทธ การทำใจให้ผ่องใส เข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ของทุกสิ่ง ทุกอย่าง มีใจที่รู้จักปล่อยวาง ให้อภัย รู้จักช่วยให้คนอื่นพ้นจากทุกข์ และมีความสุข โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นี่สำคัญมาก ถ้าเราทำบุญเพราะหวังผลอะไรๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์หรือความสำเร็จ ความร่ำรวยหรืออะไรก็ตาม เราก็จะยึดติด คือยึดติดกับผลบุญที่ตัวอยากจะได้...ติดอยู่กับคนที่ตัวเองคิดว่าจะบันดาลให้ได้ ก็เป็นเรื่องฉัน
จะเอา...ฉันจะเอาน่ะซิ นี่มันตรงกันข้ามกับปล่อยวางที่ทำให้ใจปลอดโปร่งเป็นอิสระ”
ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมด้วยการ “ให้ ” ที่คุณหญิงจำนงศรีปฏิบัติอยู่ จึงไม่ใช่วิธีซื้อบุญด้วยเงินมากมาย เพื่อหวังบุญกุศลลาภยศตอบแทนเหมือนบางคน
“ตอนอยู่วัด ดิฉันจะแบ่งอาหารให้แมว ให้หมา กระรอก กระแต เป็นสุขนะ ที่สนุกที่สุดคือให้มด... มันเดินมาพบอาหาร ไม่แน่ใจ มาดม หนวดขยับสำรวจ แต่เดี๋ยวเดียวมันก็ช่วยกันขนไปหมด สังเกตสไตล์ของมดก็สนุกมาก แต่ละชนิด จะมีลีลาตามธรรมชาติของเขานะ การให้ทาน ทำให้เราสุขโดยไม่ต้องยึดติดกับใครหรือสิ่งใด แต่เลี้ยงมดนี่ต้องให้ไกลเข้าไปในป่าหน่อย เดี๋ยวจะทุกข์เพราะมดกัด (หัวเราะ)”
นี่คือการฝึก “การให้” ในสวนโมกข์ และวัดป่าอีสาน ซึ่งต่อเนื่องมาสู่การแบ่งปันความรัก และปัจจัยช่วยเหลือเด็กๆ ทางเหนือ ในนาม “มูลนิธิเรือนร่มเย็น” ในเวลาต่อมา
แต่การให้ในลักษณะนี้ ก็ไม่ได้ทำให้คุณหญิงมองตัวเองว่าวิเศษดีงาม มันเป็นเพียงครรลองของเธอในกระแสสิ่งที่ควรทำ ต้องการทำและทำได้ เป็นการฝึกทักษะมองตัวเองอีกมุมหนึ่ง มองว่าตัวเองเห็นแก่เด็กจริงๆ แค่ไหน หรือว่ารักตัวเองและทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี
“บางทีเราก็ไปวุ่นวายกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ดั่งใจเรา พอมานั่งมองอีกที ก็ได้คิดว่าเอ๊ะ... เราทำเพื่อเราหรือเพื่อใครกันแน่ ก็อาศัยทักษะการฝึกมองตัวเองจากการปฏิบัติธรรม สะกิดตัวเองได้เรื่อยๆ ถ้าใจเราสะอาดพอ”
คุณหญิงยอมรับว่าส่วนใหญ่การ “ให้” ของมนุษย์นั้นหวังสิ่งตอบแทนอยู่ลึกๆ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเท่านั้นเอง สิ่งที่ท้าทายก็คือทำอย่างไรจึงจะทำให้การให้นั้น ค่อยๆ ลดจากความต้องการสิ่งตอบแทน ให้มันลดน้อยถอยลง จดหมดสิ้นสักวัน
นี่ไม่ใช่คำอธิบายที่ติดยึดมาจากสำนักไหน เพราะก่อนกลับกรุงเทพฯ ครั้งนั้น อาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง ท่านเห็นว่าคุณหญิงออกจะติดสำนัก ติดครูบาอาจารย์ ท่านจึงบอกว่าอย่ากลับมาสวนโมกข์อีกจนกว่าจะได้ไปปฏิบัติที่สำนักอื่นเสียก่อน ให้ปฏิบัติตามสายพระพุทธองค์ไม่ใช่ตามสายสำนักใด สำนักหนึ่ง สักระยะหนึ่งจึงค่อยกลับมา ด้วยอาจารย์ไม่ต้องการให้ติดยึดว่า อาจารย์ฉันวิเศษ สำนักฉันวิเศษกว่าอื่นๆ ซึ่งตรงข้ามกับการปล่อยวาง
และนั่นคือทางนำให้คุณหญิงธุดงค์สู่ทางธรรมหลากหลาย ทั้งนอกและในประเทศ
ทำให้เธอได้พบหมาจิ้งจอกในหัวใจ
จาก: คอลัมน์วรรณกรรมรายงาน ในมติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 989 วันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2542
Comments