เข็นครกลงเขา
- 10 ม.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 8 ก.ค. 2567

"ศิลปะอยู่ที่การมองด้วยตาใจ ตาที่อิสระจากกรอบความเคยชิน และใจพร้อมที่จะเห็นมากกว่าแค่เห็น”
จาก โลกใบนี้ใหม่เสมอ
“ความกลัวที่ซ่อนลึกในยามตื่น ออกมาเพ่นพ่านแผลงฤทธิ์ยามหลับ การที่เอามันมาพลิกพิจารณาหาต้นเหตุ เป็นเหมือนการฉายไฟให้เห็นแมลงสาบที่ซ่อนอยู่ตามซอกตามมุม”
จาก ฝันร้ายไม่ร้ายจริง
“เด็กในท้องที่แท้งเองตามธรรมชาติ มักเป็นเพราะไม่สมบูรณ์ คลอดออกมาก็คงกระเสาะกระแสะ รักที่แท้งก็เพราะไม่แข็งแรงจริง แท้งเสียได้ชีวิตอนาคตก็จะไม่เศร้าหมอง กับความรักที่สามวันดีสี่วันไข้”
จาก เพลงคนอกหัก
เข็นครกลงเขา หนังสือเคล็ดวิชาลำดับสอง(ต่อจาก วิชาตัวเบา) ชวนปรับมุมมองให้เรื่องราวในชีวิตเปลี่ยนจากความยากเข็ญแบบดันครกอยู่เบื้องล่าง เสี่ยงต่อการถูกครกกลิ้งมาทับ เป็นผู้อยู่เหนือครกยามเข็นลง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ทั้งคนทั้งครกกลิ้งลงมาพร้อมกัน
วิชาเข็นครกขาลงเล่มนี้ เป็นผลงานรวมบทความเก็บประสบการณ์จากการสังเกตความเป็นไปของชีวิต ดังคำนำของผู้เขียนที่ว่า “ การเขียนจึงเป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติชีวิต จากสารพันสิ่งที่ประสบพบพานและสารพันอาการของจิตใจ ชีวิตเป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่แสนวิเศษ ไม่มีใครสอนใครได้ลึกล้ำเท่ากับการสัมผัสรู้และยอมรับของทุกสิ่งอย่างด้วยตัวของตัวเอง”
บทความในหนังสือรวม 35 บทความ มีที่มาจากคอลัมน์ Well Being นิตยสาร Health&Cusine และบางส่วนจากนิตยสารอื่นๆ
บางส่วนจากคำนิยม
“สังคมปัจจุบันกำลังอยู่ในยุค ‘ตัวช่วย’ ผู้คนพากันหาตัวช่วยมา 'ยกครก' ขึ้นเขากันเป็นแถว มีทั้งลวด สะลิง มีทั้งกระเช้าไฟฟ้า มีทั้งสะพานลอย บันไดเลื่อน จนลืมไปแล้วว่าคนสมัยก่อนเขาเข็นครกกันอย่างไรผลงาน เข็นครกลงเขา ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ สวนกระแสยกขึ้น โดยการทำให้ผู้อ่านเห็นการ ‘เข็นลง’ เข็นด้วยมือตนเองและกำกับด้วยใจตนเอง
ต้องอ่านค่ะ จึงจะ ‘เข็นลง’ เป็น”
ชมัยพร แสงกระจ่าง
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
“...ให้มุมมองการใช้ชีวิตแบบไม่เปลืองแรงใจ คุณหญิงใช้เรื่องเล่าชวนให้สำรวจจิตใจและมองความคิดของตนเองให้ทะลุ ส่วนเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่เรากังวลว่าต้อง ‘เข็นครกขึ้นเขา’นั้น เพียงแค่ตั้งสติให้ดีจะพบว่าเราอาจเป็นคนสร้างเนินเขาขึ้นมาเอง ถ้าปรับมุมมองให้ยอมรับกฎธรรมชาติ ประคองครกให้ค่อยๆไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลกบ้าง เรื่องที่คิดว่ายากจะกลับกลายเป็นเรื่อง ‘เข็นครกลงเขา’ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ...
งานเขียนคุณหญิงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยภาษาที่กระทัดรัด แต่กินใจ และด้วยความช่างสังเกตและชอบตั้งคำถามที่กลับลำ หักมุมจากคนทั่วไป”
ดร.วีรไท สันติประภพ
นักเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร
ข้อมูลหนังสือ
ผู้เขียน: คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์
บรรณาธิการ: ใจรัตน์ สมบัติพิบูลย์
พิมพ์ครั้งแรก: สำนักพิมพ์อัมรินทร์ ตุลาคม พ.ศ.2550
พิมพ์ครั้งที่ 7: สำนักพิมพ์อัมรินทร์ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551
留言