top of page

“เป็นแม่ยากกว่าการทำงานเยอะ”

  • รูปภาพนักเขียน: Chamnongsri Hanchanlash
    Chamnongsri Hanchanlash
  • 3 ก.ย. 2565
  • ยาว 2 นาที

อัปเดตเมื่อ 16 มิ.ย. 2567

วรัดดา หลีอาภรณ์

เรื่อง ศิริ

ภาพ Wittaya Athimuttikul




ผู้หญิงทำงานยุคนี้ต้องสวมบทบาทถึง 2 สถานภาพ นั่นคือ ต้องทำงานนอกบ้าน พอกลับเข้าบ้านก็ต้องเป็นคุณแม่ของลูกหรือแม่บ้านของครอบครัว ซึ่งนับว่าเก่งมาก เพราะทั้ง 2 ภาคนี้ต่างเป็นภาระที่หนักอึ้งจริง ๆ เหมือนกับ วรัดดา หลีอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เวฟ (L-WAVE) จำกัด ที่พิสูจน์ว่าเธอทำได้ดีทั้งงานนอกบ้านและในบ้าน


เธอเป็นคุณแม่ยังสาวที่ต้องดูแลเจ้าตัวเล็กถึง 2 คน พร้อมกับหน้าที่รับผิดชอบในบริษัทผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์และวิดีโอพรีเซนเตชั่น ดูแล้วน่าจะเหนื่อย แต่เธอแยกหน้าที่ทั้ง 2 ออกจากกันได้อย่างสมดุล และจัดระบบการทำงานได้ลงตัว งานของคุณแม่ยุคใหม่อย่างเธอจึงไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดค่ะ


Working: เริ่มทำงานที่ไหนเป็นครั้งแรกคะ


วรัดดา: “หลังจากผึ้งจบคณิตศาสตร์ ที่ประเทศอังกฤษแล้ว ก็กลับมาเมืองไทยตามสัญญาที่ให้ไว้กับคุณแม่ว่าจะกลับมาอยู่เมืองไทยประมาณ 6 เดือน แล้วจะกลับไปเรียนต่อ พอนั่งๆ นอนๆ อยู่ได้ 3 เดือนรู้สึกไม่ไหว ก็เลยไปสมัครงาน พอดีได้ยินข่าวว่าบริษัท เชิดไชยภาพยนตร์ฯ ของคุณเชิด ทรงศรี เปิดรับคน ลองไปสมัครดู ปรากฏว่าทางนี้รับไว้”


Working: ได้ทำอะไรบ้างคะที่เชิดไชยภาพยนตร์


วรัดดา: “คุณเชิดให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับฯ ทางด้านครีเอทีฟ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณเชิดเป็นผู้สอนงานซะมากกว่า เพราะผึ้งเองก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้มาเลย ส่วนใหญ่เป็นความสนใจส่วนตัวเท่านั้นเอง อย่างตอนสมัยเรียนหนังสือ ก็ชอบดูหนังเป็นกิจวัตร ชอบวิจารณ์เรื่องหนัง พอมาได้ทำงาน ก็ได้ที่คุณเชิดช่วยสอนงานให้ และให้โอกาสเราในการแสดงความคิดเห็น”


Working: แล้วก็เปลี่ยนงานอีกเหรอคะ


วรัดดา: “ใช่ค่ะ...มีคนชวนว่าน่าจะไปสมัครงานที่บริษัทแปซิฟิก อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งในเวลานั้นกำลังทำข่าวให้กับทางช่อง 5 ตอนนั้นแปซิฟิกกำลังเป็นที่สนใจของเด็กจบใหม่ เพราะที่นี่เป็นสถานที่ทำงานที่ค่อนข้างไดนามิก มีไอเดียค่อนข้างใหม่ ตัวเองก็อยากจะไปลองสมัครดู ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาทางสายนี้ ก็เข้าไปยื่นใบสมัครไว้บังเอิญอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล เรียกไปสัมภาษณ์ตอนที่คุยกับอาจารย์

สมเกียรติเราก็บอกว่าอยากจะให้ทำในส่วนไหน เราก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง ปรากฏที่นี่ก็รับเข้าทำงานก็ติดอยู่ที่นี่พักใหญ่ จนในที่สุดไม่ได้กลับไปเรียนต่อ เพราะเราสนุกกับงาน ซึ่งถึงวันนี้งานส่วนใหญ่ที่เราได้รับมาเป็นความรู้ในวันนี้ก็มาจากตรงนี้ ที่แปซิฟิกเราได้เข้าไปเรียนรู้ทุกจุด ได้ดูงานค่อนข้างจะกว้างมาก”


Working: จับงานตรงส่วนไหนที่แปซิฟิกคะ


วรัดดา: “เริ่มต้นเป็นผู้สื่อข่าวทั่วไปค่ะ แล้วถึงมาเป็นผู้สื่อข่าวจำเพาะทาง แล้วก็ทำทางด้านข่าว

ต่างประเทศ เลือกข่าว แปลข่าวซีเอ็นเอ็น ได้เห็นกระบวนการทำงานที่กว้างมาก หลังจากนั้นก็มาอยู่ทางด้านโปรดักชั่น มาทางด้านสารคดี ซึ่งอาจารย์สมเกียรติก็ดูแลใกล้ชิด อย่างลงเสียงครั้งแรกอาจารย์ก็ฝึกให้เราพูดแค่ประโยคสั้น ๆ ลองกันเกือบชั่วโมง ในที่สุดอาจารย์ก็บอกผ่าน ที่ภาพและเสียงเราออกมา (หัวเราะ) ช่วงนั้นเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น จริง ๆ ในช่วงเวลานั้นที่เราถูกมูฟไปหลายๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเราไม่ได้เรียนมาโดยตรง ในแง่ที่เราจะหาทางที่เป็นธรรมชาติของการทำข่าว

แต่เมื่อเราหาทางออกในการทำงานของตัวเองได้แล้ว มันเป็นอะไรที่ต้องคอยปรับปรุงพัฒนาและนึกหาประเด็นของข่าวในทันทีทันใด ทำให้เราต้องมองภาพกว้างๆ และเรียนรู้ในจุดต่างๆ ตลอดเวลา เป็นอะไรที่สนุกมาก แล้วเพื่อนๆ ก็ชอบและคิดคล้ายๆ กัน สนใจอะไรเหมือนๆ กัน ตรงนี้คือความสุขค่ะ”


Working: ต้องปรับตัวเองมากมั้ยคะ


วรัดดา: “มีรุ่นพี่ ๆ ค่อยช่วยอยู่ ก็ต้องปรับนิดหน่อยนะคะ อย่างเรื่องของการเขียน เราก็ไม่ใช่คนช่างเขียนอะไรมากนัก เรียนมาทางคณิตศาสตร์ เป็นภาษาจำเพาะ ในเรื่องของภาษาก็ได้พี่ๆ คอยช่วยดูให้”


Working: ออกจากแปซิฟิกเพราะอะไรคะ


วรัดดา: “ก็มาเลี้ยงลูกตอนนั้นช่วงอายุ 26-27 ได้พอมาเลี้ยงลูกจนคนโตได้ขวบหนึ่ง ก็มีอีกคนหนึ่ง คนที่สองนี่เลี้ยงแค่ 6 เดือน ไม่ถึงปีเหมือนคนแรก ตอนนี้ลูกคนโต 4 ขวบแล้ว คนเล็ก 2 ขวบ”


Working: พอต้องมารับบทบาทเป็นคุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างคะ


วรัดดา: “จริง ๆ ไม่ค่อยถนัดนัก แต่ตอนแรกคิดว่า ‘จะชอบ’ เพราะเป็นคนชอบอยู่กับบ้าน กับเด็กเป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่ากลัวๆ กล้าๆ เพราะก่อนที่จะมีลูกก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่เห็นเด็กแล้วน่าเอ็นดูเข้าไปเล่นด้วย คือมีความรู้สึกว่าเด็ก...เราคาดไม่ได้ว่าเราทำอย่างนี้แล้วเขาจะตอบรับอย่างนี้ ตอนท้องก็มีช่วงหนึ่งที่กลัว คือใกล้คลอด เราจะคิดว่าเราจะดูแลลูกเราเป็นหรือเปล่า ยังไม่ทราบความรู้สึกของเรา เป็นแม่...จะเป็นอย่างไร


ผึ้งเป็นคนที่ใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่มีการวางแผน มีความสุขไปวันๆ ทำให้เมื่อแต่งงานแล้วเราก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่พอมีลูกเริ่มจะรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่มากกว่าแค่รับผิดชอบตัวเราเอง อย่างตัวเราเองจะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา แต่ตอนนี้มีลูกที่เราทำอะไรแต่ละอย่าง มันก็จะไปกระเทือนถึงเขา

กลายเป็นชีวิตคนอื่นที่เราต้องดูแล เป็นคอนเซ็ปต์ที่ต่างกันไปเลยกับคอนเซ็ปต์เดิมที่ผึ้งเคยใช้กับชีวิตตัวเอง”



Working: ระหว่างเลี้ยงลูกกับทำงานอันไหนหนักกว่ากันคะ


วรัดดา: “สำหรับผึ้งคิดว่าการเป็น ‘แม่’ ยากกว่าการทำงานเยอะ ความที่เราเป็นคนสบายๆ พอมาเลี้ยงลูกเองเราก็ต้องให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ ผึ้งจะเลี้ยงแบบปล่อยลูกมาก เราไม่สามารถประคบประหงมเขาในรายละเอียดได้มากนัก ความที่เราเลี้ยงลูกเองตลอดเวลา ค่อนข้างจะปล่อย ทำให้เขาซนและลุยพอสมควร

การเลี้ยงลูกจะตามใจหรือไม่นั้น บางทีมันก็หาสมดุลยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราออกมาทำงานแล้วทั้งในแง่ทฤษฎี และหลายคนก็บอกว่าพ่อแม่ไปทำงานต้องหาสิ่งทดแทนให้ลูกอาจจะเป็นวัตถุ การตามใจเรามีความรู้สึกว่าคงจะไม่ แต่มันก็แยกแยะยากเหมือนกันว่า นี่เรากำลังตามใจเขาอยู่ หรือว่าเป็นการแสดงว่า เราแคร์เขานะ ตรงนี้ต้องเรียกว่าเป็นจุดที่ยาก


อย่างเมื่อเราออกไปทำงาน เวลามองหน้าลูก เรารู้สึกผิดว่าเราทิ้งเขา มีบางวันที่เราขับรถออกจากบ้านแล้วแกร้อง ยิ่งเป็นอะไรที่รู้สึกผิดมาก ในที่สุดก็ยังสรุปไม่ได้ว่าอะไรบางอย่างที่เราให้เขาเป็นการทดแทน แล้วเราตามใจเขามากเกินไปหรือเปล่า แต่ตัวผึ้งเองคิดว่า ลูกชินกับเรา ชินกับสไตล์การเลี้ยงดูของเรา คิดว่าเขาเข้าใจพอสมควร อีกอย่างก่อนที่เราจะสปอยล์เขา เราควรพิจารณาดูตัวเราเองว่า เราตามใจลูกคราวนี้

เพราะเรารู้สึกผิดหรือเปล่า แล้วเราตามใจไปเลยมันก็คงไม่ใช่นัก แต่ถ้าเราแยกออกมาได้ก็โอ.เค. เราให้เขาแล้วเรามีเหตุผลที่จะให้เขาตรงจุดนี้ คือบางทีการดูแลเด็กต้องมีช่วงกลาง ช่วงพอดี ก็ไม่มีใครรู้ว่าช่วงพอดีอยู่ตรงไหน อันนี้คงต้องใช้ความรู้สึกของเราเอง เพราะเด็กแต่ละคนพ่อแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”


Working: มีเวลาให้ลูกมาไหมคะ


วรัดดา: “จันทร์-ศุกร์ให้กับงาน เรากลับบ้านก็ได้เล่นกัน เพราะลูกนอนดึก จะนอน 4-5 ทุ่มก็เลยมีเวลาที่ใช้ร่วมกันบ้าง เขาจะชอบให้อ่านหนังสือให้ฟัง เล่านิทาน หรือคุยกันอย่างเขามีรูปที่วาดก็เอามาให้ดู เอามาวาด มีเวลาได้อยู่ด้วยกันไม่มากนัก เพราะเราค่อนข้างจะเหนื่อย ถึงบ้านก็เพลีย บางทีก็ไม่มีโอกาสได้เล่นกับเขาอย่างที่อยากจะเล่นกับเขา


โลกที่เราตั้งไว้คือเวลาที่มีอยู่กับลูก ก็ใช้เวลามีคุณค่าอันนั้นเสริมอะไรต่ออะไร แต่ในบางครั้งตัวเองก็ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ รู้สึกเหนื่อยหมดแรงแล้ว แต่พอมาถึงเสาร์-อาทิตย์ พยายามจะบล็อกเอาไว้เป็นวันสำหรับครอบครัว คิดว่า 24 ชั่วโมงที่เราอยู่ด้วยกัน เขามีความรู้สึกอะไร ที่เขาขาดไป หวังว่าคงจะทราบก่อน เท่าที่ดูในช่วงนี้ก็ดูแกสดใสร่าเริงดี พอมี 2 คน ความซนดูจะเพิ่มขึ้น จะชวนกันซน


แรกๆ คิดว่ามีลูกคนหนึ่งก็น่าจะมีอีกคนหนึ่ง จะได้เหนื่อยไปทีเดียว แต่ตอนหลังพบว่า มีลูก 2 คน ไม่ใช่เหนื่อยเป็น 2 เท่า แต่ต้องบวกอะไรเข้าไปอีกเล็กน้อย อย่างเรามีลูกคนเดียวเวลาแกหลับเราก็พักได้ แต่มีลูก 2 คน คนหนึ่งหลับ อีกคนหนึ่งไปปลุกมาเล่นเฉยเลย เพราะฉะนั้นจะชวนกันซนมากแข่งกันซน”


Working: สามีช่วยดูแลลูกอย่างไรบ้างคะ


วรัดดา: “เขาช่วยเลี้ยงมากทีเดียว เพราะเขาชอบเล่นกับเด็กอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เสาร์-อาทิตย์ เขาก็ช่วยเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ ก็แบ่งเบาภาระเยอะเกือบจะครึ่งเลย บางทีเขาจะดูมากกว่าซะอีก”


Working: การลงโทษเด็กล่ะคะมีบ้างไหม


วรัดดา: “ส่วนใหญ่จะจับเข้าไปนั่งตรงมุมห้อง จับให้เขานั่งหันหน้าเข้ากำแพงก็นั่งอยู่อย่างนั้น เรียกว่าการเข้ามุม แต่เลย 4 ขวบแล้วเริ่มใช้ไม่ได้ผล เริ่มลุกขึ้นมาเดิน วิธีนี้จะดีสำหรับเด็กขวบ 2 ขวบ ถามว่าเคยตีหรือเปล่า ก็เคยนะคะ แต่ว่าน้อย การตีจะเป็นบทลงโทษที่รุนแรงแล้ว คือบางครั้งเวลาเราโกรธก็โดนเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วเราไม่ควรลงโทษเวลาเราโกรธ แต่นานจะตีที เราจะอธิบายให้เขาฟังให้เขารู้ว่าผิด ทำไม่ได้นะ บางช่วงเข้ามุมก็ทำไม่ได้ พยายามจะตีให้น้อยที่สุด ก็เลือกที่ตี จะตีที่มือ ไม่อยากตีขา

ตีก้น”


Working: การเลี้ยงลูกที่อาศัยตำราจะเอามาใช้ได้หมดหรือเปล่าคะ


วรัดดา: “ตำราแต่ละตำราไม่เหมือนกัน ตำราที่ดีจะบอกไว้เลยว่าเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จะเลี้ยงลูกตามหนังสือเลย คงเป็นไปไม่ได้ แล้วคิดว่าถ้าพ่อแม่รู้จักลูกดีพอ เราจะเข้าใจว่าเราจะเลี้ยงเขาอย่างไร ตรงนี้มันเป็นคล้ายกับลูกโซ่ เราเลี้ยงเขามาอย่างไร แล้วลูกเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าผึ้งเลี้ยงลูกเก่ง จะสอนใครได้ ที่สำคัญที่สุด คือต้องคอยสังเกตเขาเป็นส่วนใหญ่พยายามจะเข้าใจว่าเขาคิดอะไร เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลูกเราก็มีลักษณะจำเพาะคิดว่าเลี้ยงลูกตามหนังสือพอสมควร แต่ไม่ได้ตามมากเอามาประยุกต์ใช้ ตามทฤษฎีบ้าง เป็นลักษณะเฉพาะของเขา”


Working: ช่วงที่ห่างจากลูกไม่ได้ดูแลมีบ้างไหมคะ


วรัดดา: “มีประสบการณ์บางช่วงที่เราต้องเดินทางไปต่างประเทศ วุ่นๆ อยู่สัก 2 อาทิตย์ พอเรากลับมาหาลูก เรารู้สึกว่าเรามีความผิด ไม่รู้ว่าเขาจะตอบสนองอย่างไร ความรู้สึกนี้อย่าให้เกิดขึ้น เพราะเขาเป็นลูกเรา ช่วงที่เลี้ยงแรกๆ ต้องทำให้เขากับเรารู้สึกว่าใกล้กันทำความรู้จักกัน ต้องยอมรับว่าลูกเราที่ออกมาครั้งแรก เราไม่รู้จักกันเรายังต้องทำความเข้าใจกับเขาอีกเยอะ แล้วตัวเด็กเองก็เป็นส่วนที่เราให้กับเขามันเป็นกระบวนการเลี้ยงดูให้เขาเติบโตขึ้นมา เขาเป็นส่วนที่เราสร้างให้เขาเป็นอย่างนั้น”


Working: คิดว่าจะวางแนวทางให้ลูกอย่างไรคะ


วรัดดา: “แนวทางชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้วาง ที่สำคัญที่สุดต้องสอนให้เขามีความสุขกับตัวเขาเอง กับสถานะรอบๆ ตัวเขา โลกเรามีอะไรต่างๆ คือให้เขามีความคิดที่สามารถใช้ชีวิตในลักษณะที่มีความสุข มีความพอใจในสิ่งที่เขาเป็น และสถานการณ์รอบ ๆ


เป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เป็นนามธรรม ไม่มีหลักสูตรว่าจะต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้

ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุด คงเป็นอะไรที่สำคัญต่อความรู้สึกของผึ้งเอง”


Working: ปรึกษากับสามีอย่างไรบ้างคะในเรื่องการเลี้ยงลูก


วรัดดา: “เรามีโอกาสอยู่กับลูกๆ พอๆ กัน ส่วนใหญ่เราจะสังเกตอะไรคล้ายๆ กัน เห็นอะไรพร้อมๆ กัน แล้วก็สไตล์คล้ายกันอยู่แล้ว เรียกว่ามุมมองในการเลี้ยงลูกบังเอิญคล้ายกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่ค่อยเถียงกันเรื่องของการเลี้ยงลูกเท่าไหร่ มันก็มีบ้างเรื่องความเห็นไม่ตรงกันในการเลี้ยงลูก แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเกิดขึ้น ตอนผึ้งท้องเราก็อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ช่วยกันดูมาตลอด ได้เห็นพัฒนาการมาตลอด เมื่อถึงเวลาแก้ไขก็จะช่วยกันแก้”


Working: งานที่บริษัทฯล่ะคะเป็นอย่างไร


วรัดดา: “ที่นี่เป็นบริษัทเกี่ยวกับโปรดักชั่นเฮ้าส์ ซึ่งจริง ๆ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นแอล เวฟ (L-WAVE) เป็นแผนกหนึ่งอยู่ในล็อกซเล่ย์ ตั้งมาปีกว่าๆ เป็นบริษัทที่ผลิตรายการวิทยุบ้าง รายการโทรทัศน์บ้างและมีพวกวิดีโอพรีเซนเตชั่น มาถึงปีนี้แยกออกมาเป็นแอล เวฟ ก็เพิ่มในเรื่องของการทำอิเล็กทรอนิกส์มีเดียลงไปด้วย การวางแผนงานจะช่วย ๆ กัน เราทำงานเป็นทีมซะมากกว่า


ตอนนี้งานเข้ามามากทำให้ 32 คน ค่อนข้างเต็มไม้เต็มมือ การหาลูกค้าก็ช่วยกัน ถึงเวลานี้เป็นช่วงที่เราเปลี่ยนเป็นรูปบริษัท จะต้องมีการจัดรูปแบบให้แบบระบบมากขึ้น ทีมงานของเราก็อยู่กันมาตั้งแต่แรก เห็นการเติบโตมาโดยตลอด ส่วนใหญ่ทุกคนจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของบริษัท เราประชุมกันอยู่ตลอดเวลา น้องๆ เกือบทุกคน เราจะรับทราบและให้เขามีโอกาสมากที่สุด ทีมงานน่ารัก ตอนนี้เป็นเพื่อนกันทุกคน คล้ายๆ เป็นครอบครัว”


Working: ความคิดในการแบ่งหน้าที่ระหว่างงานกับครอบครัว


วรัดดา: “ทั้งงานและครอบครัวของผึ้งมันคนละส่วน คิดว่าต้องพยายามต่อไป ที่จะแบ่ง 2 ภาคนี้ให้เป็น 2 ภาคต่อไป คือบางทีมันจะสตริกมากในเรื่องของเวลา อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่ผึ้งซีเรียสหน่อย บางครั้งเราทำงานเพลินเราเริ่มจะเอาเวลาของครอบครัวไปให้กับงาน ลูกเรายังเล็กมาก ยิ่งเราให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวน้อยลง มันจะน้อยลงทุกทีนะคะ


ในทางกลับกัน ถ้าเราขีดเส้นตรงไหนไว้แล้ว เราคิดว่าเป็นสมดุลที่ดี ก็น่าจะรักษาตรงนั้นไว้ จนกว่ามันจะมีสถานการณ์อะไรที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลง”


สมดุลระหว่างครอบครัวและงานคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตค่ะ


 

จาก: คอลัมน์ People toWatch นิตยสาร Working ผู้หญิง 269/164 ตุลาคม 2539.

Opmerkingen


Final Logo.png

ที่อยู่:
Bangkok Thailand

Email: 

ส่งข้อความหาเรา
แล้วเราจะติดต่อกลับในไม่ช้า

ขอบคุณสำหรับการติดต่อ

bottom of page