เรื่องราวดี ๆ ของ จำนงศรี หาญเจนลักษณ์
- supita reongjit
- 25 ก.ย. 2565
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 17 ก.ค. 2567
ศิราณี วงษ์โซ

ถือเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้หญิง 2 วัย ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ! คนหนึ่งเป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ทั้งตระกูลและศักดินา ขณะที่อีกคนหนึ่งต่ำต้อยแถมถูกดูแคลนจากสังคมและคนรอบข้าง
แต่เวลานี้เหมือนมีเส้นใยบางๆ มาโยงคนทั้งคู่เข้าไว้ด้วยกัน...
ผู้หญิงคนแรกที่เราเอ่ยถึง คือ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เจ้าของโรงพยาบาลจักษุรัตนิน และยังเป็นนักเขียนฝีมือดีของเมืองไทย ส่วนอีกคนคือ ธนัดดา สว่างเดือน ผู้เขียนหนังสือ “ฉันคือแอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” ที่เพิ่งคว้ารางวัลชมนาดระดับดีเด่นประเภท nonfiction ประจำปี 2552 และกำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงจากการนำเสนอเรื่องราวในอาชีพโสเภณีของตัวเอง และคุณหญิงจำนงศรีเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลประจำปีนี้
ในวันที่ทั้งคู่ได้พบกัน...มีเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
แววตาปรานีจากคุณหญิงทำให้ “หนิง” หรือธนัดดาไม่ต้องวางตัวลำบากนัก ทั้งคู่เริ่มคุยกันเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่คุณหญิงได้เรียนรู้ประวัติของหนิงผ่านทางต้นฉบับหนังสือที่ผู้หญิงคนนี้ส่งเข้าประกวดเท่านั้น
“ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนเก่ง และที่สำคัญงานชิ้นนี้อ่านแล้ว โอโห ! เรื่องสารพัดเรื่องมันสาหัสสากรรจ์ เธอเขียนอย่างเหมือนคนที่มองตัวเอง ไม่เข้าไปสงสารตัวเอง ไม่โอดครวญ แค่สื่อสิ่งที่เธอเห็น ที่รู้สึก ไม่มีน้ำตานองหน้า ไม่ฟูมฟาย และที่สำคัญ คือ มีความสง่างามในตัวเอง” คุณหญิงชื่นชมและพูดถึงสิ่งที่ประทับใจของหนังสือเล่มนี้
“ชอบที่เขาตั้งคำถามว่า เขาเกิดมาอย่างไม่มีโอกาส ต้องดิ้นรนที่จะเลี้ยงตัวเลี้ยงลูก แม้ว่าอย่างน้อย ในช่วงต้นๆ เขาก็ส่งเสียให้ลูกต้องอยู่รอด เลี้ยงพ่อแม่ เขานอนกับผู้ชายโดยที่เป็นความจำเป็นของชีวิต แต่เขาถามถึงว่า แล้วคนที่มีพร้อม แต่เปลี่ยนคู่นอนเพื่อสนองความมักมากในกามของตัวเอง ทำไมคนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในสังคมถึงอยู่ได้โดยไม่มีการดูหมิ่นดูแคลนเหมือนกับคนอย่างเขา”
“บางทีเราก็อยากจะพูดว่า น่าคิดนะเราโชคดีที่เกิดมาแบบนี้ แต่ด้วยความเป็นผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ที่มีกาย มีใจ ถ้าบังเอิญไปเกิดอย่างเขา แล้วมันจะเป็นอย่างไร”
“คำถามที่เขาตั้งน่าสนใจมากว่าทำไมดูถูกกัน แต่เขาทำด้วยความจำเป็น เพื่อดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ ทำไมแยกเขาออกจากกลุ่มที่ทำเพื่อสนองราคะของตัวเอง โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ เป็นอะไรที่อ่านแล้วรู้สึก”
แค่พูดจบประโยคนี้เท่านั้น น้ำตาแห่งความตื้นตันของหนิงก็ค่อย ๆ ไหลออกอาบแก้ม...
“จะไปร้องไห้ทำไม เราเป็นผู้ชนะแล้ว ชีวิตข้างหน้าจะดีแล้ว เรายังช่วยคนอื่นได้ตั้งเยอะแยะ คนที่ไม่เคยทุกข์จะช่วยคนที่ทุกข์ไม่เป็น แต่คนที่ทุกข์มาก่อนจะช่วยคนอื่นได้ เพราะรู้ว่าทุกข์จริงๆ คืออย่างไร เพราะฉะนั้นหนูมีเครื่องมือพร้อมแล้ว ที่จะเป็นประโยชน์กับโลก”
ไม่เฉพาะแค่กำลังใจที่มีให้เท่านั้น แต่คุณหญิงยังได้หยิบยื่นทางเดินใหม่ให้กับชีวิตนี้ด้วย
“เดี๋ยวจะค่อยๆ หาหนังสือให้อ่าน จะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาความรู้ นี่คือของจริงๆ ใครมองว่าเราเป็นคุณหญิงแต่จริงๆ แล้วมันธาตุเดียวกัน เนื้อหนังเหมือนกัน ใจเหมือนกัน เจ็บเป็นเหมือนกัน ผู้หญิงเหมือนกันทุกอย่าง”
“อย่าคิดว่าเกิดมาดี...แล้วมันจะไม่จมได้นะ แล้วอย่าคิดว่าเกิดมาไม่ดี...แล้วมันขึ้นมาไม่ได้ ความไม่แน่นอนเกิดกับทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เกิดมาดี เกิดมาสบาย บางทีเขาหลงลืม ถ้าต้องจมแล้วรับไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้สึกอย่างงี้มาตั้งแต่ต้น มันจมก็จมได้ เพราะเรารู้ว่ามันก็แค่นี้ ก็เหมือนกัน...ใช่ไหม ?”
พูดจบคุณหญิงก็มอบเงินให้ก้อนหนึ่งให้เป็นทุนการศึกษาสำหรับชีวิตใหม่...
“เอาไปซื้อคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์เรียนภาษาอังกฤษ ไม่ต้องไปเพนต์เล็บ เงินก้อนนี้แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็น่าจะทำให้พัฒนาขึ้นได้ แล้วถ้าเราจะไปไหนที่น่าสนใจ จะเรียกหนูมาถือกระเป๋าตาม จะได้เห็นอะไรเยอะๆ ชีวิตจะได้เริ่มต้นใหม่”
หนิงก้มลงกราบคุณหญิง และรับเช็คใบนั้นมาด้วยน้ำตานองหน้า...
ไม่เฉพาะหนิงเท่านั้น แต่ทุกคนน้ำตาซึมกับภาพเบื้องหน้า ยินดีด้วยกับความสำเร็จ และเส้นทางใหม่ของ “แอรี่”
จาก : เรื่องราวดี ๆ ของ จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ โดย ศิราณี วงษ์โซ ภาพถ่ายโดย วรวีร์ บำรุงพงษ์ ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับ วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันพุธที่ 2 มีนาคม 2554
.
Comments