เล่านิทานให้ลูกฟัง
- Chamnongsri Hanchanlash
- 18 พ.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 14 ก.ค. 2567
สร้างสัมพันธ์แม่ลูกใกล้ชิดกัน

โอกาสทองของแม่ๆ ทั้งหลาย ก็คือเวลาที่จะได้อยู่กับลูก ดังนั้นจึงมีคุณแม่หลายคนที่อุทิศเวลา เพื่อทำกิจกรรมกับลูก โดยขอให้เวลาว่างที่มีอยู่เพื่อลูก เช่นเดียวกับคุณแม่ลูกสองอย่าง มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ที่ใช้เวลาว่างเล่านิทานให้ลูกๆ ฟังเป็นประจำมาตั้งแต่ลูกคนแรกลืมตาดูโลก
คุณมาริสาเล่าถึงกิจกรรมยามว่าง ที่เธอเรียกว่าเป็นโอกาสทองในชีวิตของเธอและแม่ๆ ทุกคนว่า สมัยที่เธอยังเด็ก จำความได้ว่าคุณแม่ (กมลา สุโกศล) ก็เล่านิทานให้เธอฟัง โดยท่านจะใส่อารมณ์ระหว่างการเล่านิทานมาก จนบางครั้งเน้นเสียงจนเธอถึงกับร้องไห้ไปเลยก็มี
ส่วนเธอเองนั้นตั้งแต่สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในต่างประเทศ จะทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งเด็กๆ หลายคนที่เธอไปเลี้ยงก็จะต้องฟังนิทานก่อนนอนแทบทุกคน บางคนเพียงแค่เล่มเดียว เขาก็จะหลับไปเลย
จนถึงวันที่ตัวเองมีลูก ก็คิดว่าการอ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นโอกาสทองที่แม่จะได้ใกล้ชิดลูก ดังนั้นตั้งแต่มีลูกของตัวเอง เธอจึงใช้เวลาว่างช่วงหลังเลิกงาน ซึ่งบางวันก็กลับบ้านได้เร็ว บางวันกลับบ้านช้า เพื่อที่จะกลับไปอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน แทนที่จะกลับบ้านหลังจากที่ลูกนอนหลับไปแล้ว
สำหรับหนังสือที่เลือกนั้นมีหลายแบบทั้งที่ถูกใจแม่เอง คือ เป็นนิทานที่เขียนโดยนักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น Dr.Seuss ที่เขียนกลอนตลก ๆ หรือ “มาร์การเร็ต ไวส์ บราวน์” ที่เขียน “กู๊ดไนท์ มูน” สมัยคุณแม่ก็ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้เธอฟังเหมือนกัน หรืออาจจะเป็นหนังสือคำศัพท์ในเรื่องที่ลูกชอบ หรือเรื่องที่ลูกสนใจ เช่น เรื่องไดโนเสาร์ เรื่องจรวด เรื่องโลกใต้ทะเล ธรรมชาติ
หรือหนังสือการ์ตูนของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ที่เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ดีมากแล้วยังเป็นหนังสือที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้เด็ก เพราะจะมีภาพสวยๆ ให้เด็กได้ดู รวมทั้งปรัชญาศาสนาพุทธที่แฝงไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กอาจจะไม่เข้าใจ แต่แค่เขาได้สัมผัสศิลปะ ความสร้างสรรค์ของศิลปิน เด็กเขาจะคิดตาม เพราะบางภาพเขาจะเขียนเป็นรูปร่างที่ชัดเจน เด็กก็จะสร้างสรรค์ตามศิลปินเขาทิ้งพื้นที่ในสมองให้เด็กได้จินตนาการ
คุณมาริสาบอกว่า หนังสือส่วนใหญ่ที่เธอเลือกอ่านให้ลูกฟังนั้นจะเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเธอจะพูดภาษาอังกฤษกับลูก ในขณะที่คุณพ่อจะพูดภาษาไทยกับลูก แต่สำหรับหนังสือเสียงหรือที่เป็นเทปนั้นจะไม่นิยม เพราะสิ่งที่สำคัญที่ต้องการให้ลูกได้ก็คือ ได้ยินเสียงของแม่ และเธอจะไม่เคยนึกเสียดายสตางค์เลย ถ้าเป็นเรื่องซื้อหนังสือให้ลูก
คุณแม่ที่ใช้เวลาว่างกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเล่าด้วยว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังไม่ได้ให้ประโยชน์แต่กับลูกที่เขาจะได้ความรู้ ทั้งในเรื่องของการใช้ภาษา คำศัพท์ การใช้แกรมม่าร์ การสร้างจินตนาการ การเสริมสร้างความรักการอ่าน ความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของเด็กแล้ว แม่ที่อ่านหนังสือเด็กๆ ก็ยังได้ความรู้ด้วย เพราะหนังสือเด็กจะมีปรัชญาหลายอย่างแฝงไว้ด้วย บางครั้งเด็กไม่เข้าใจแต่พ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ก็จะได้เรียนรู้ปรัชญานั้นแทนกันไป ตัวเองยังมั่นใจเสมอว่า หนังสือเต็มไปด้วยสิ่งดีๆ ให้กับทุกคน ทำให้เธอมั่นใจที่จะอ่านหนังสือให้ลูกฟังไปจนกว่าเขาจะไม่อยากฟัง และทุกครั้งที่ลูกขอซื้อของเล่น เธอก็จะขอต่อรองลูกเป็นการซื้อหนังสือให้แทน หรือพาลูกไปเลือกหนังสือแทน และ คุณมาริสา ย้ำด้วยว่า แต่สิ่งไหนๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่แม่ลูกได้ใกล้ชิดกัน นั่นแหละสำคัญที่สุด...
จาก : หนังสือพิมพ์... วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2545
Comments